ทุ่งสังหาร…โลกไม่มีวันลืม

มีหนังไม่กี่เรื่องที่ดูแล้วต้องกดจองตั๋วเครื่องบินไปยังสถานที่จริง ผมอาจแตกต่างจากชาวบ้านชาวเมืองทั่วไป เพราะมักจะสนใจ (เป็นพิเศษ) กับเรื่องราวแสนหดหู่ ไม่ได้ชอบวิชาประวัติศาสตร์นักและก็ไม่ได้ฉลาดวิเคราะห์ประวัติศาสตร์แน่นอน แต่เพราะอะไรไม่รู้ (ฮา) รอบนี้ก็เรื่องนี้ล่ะครับ…“First They Killed My Father”

Kill.jpg

เรื่องนี้ได้แองเจลินา โจลี่มาเป็นผู้กำกับการแสดง ตัวหนังมันอึนๆ ทั้งเรื่อง ดูแล้วอึดอัดหดหู่ ผมใช้เวลาดูถึง 3 วันกว่าจะจบ ส่วนเรื่องก่อนหน้านี้ที่ได้ตามรอยก็คือ “The Boy in the Striped Pajamas” ซึ่งเป็นเรื่องราวของค่ายนรกนาซี “Auschwitz” ที่โปแลนด์ครับ >>> อ่านต่

Strip.jpg

เรื่องราวของทั้งสองสถานที่นี้แทบจะไม่ต่างกันเลยครับ โดยเฉพาะความโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมของคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “มนุษย์” ที่ทำกับ “มนุษย์” ด้วยกัน ต่างก็แต่ที่เหตุการณ์ทุ่งสังหารนี้เกิดในประเทศเล็กๆ ประเทศหนึ่งในโลก ส่วนของนาซีนี่ทั่วยุโรปเลย

 

17 เมษายน พ.ศ. 2518

การเริ่มต้น 3 ปี 8 เดือน 20 วันของนรกในเขมร

วันนั้นเป็นวันเริ่มต้นการครอบครองประเทศกัมพูชาของกองกำลังเขมรแดง (Khmer Rouge) ซึ่งนำโดยนายพล พต (Pol Pot) และก็เป็นวันเริ่มต้นการกวาดล้างชาวเขมรกว่า 3 ล้านคนด้วย

Polpot.jpg
พล พต

แนวคิดของนายคนนี้ คือ ต้องการทำให้ประเทศเป็นแบบระบบสังคมนิยมไม่พึ่งคนอื่น ไม่พึ่งเทคโนโลยีใดๆ ให้ทุกคนอยู่อย่างเท่าเทียมกัน มีการอพยพประชาชนจากกรุงพนมเปญออกไปทำงานใช้แรงงานเพื่อการเกษตรในชนบทที่ทุรกันดาร (แต่พรรคพวกของตนเสวยสุขอย่างสุขสบาย ได้ตำแหน่งทางการเมืองใหญ่โตกันถ้วนหน้า…)

คนพวกนี้ได้ปิดโรงเรียน โรงพยาบาล ยกเลิกระบบธนาคารและยึดทรัพย์สินจากเอกชน ส่วนผู้ที่ต่อต้านและคนที่มีความรู้ทั้งหลาย (หมอ, วิศวกร, นักวิชาการ ฯลฯ) ก็ถูกฆ่าทิ้งเกือบหมด…ไม่เว้นแม้แต่คนใส่แว่นเพราะพวกมันเชื่อว่าอาจจะเป็นผู้มีความรู้ ที่มันต้องฆ่าหมดก็เพื่อไม่ให้มีปัญหากับกองกำลังของตนเองในภายหลัง นี่ยังไม่รวมถึงการฆ่าเด็กน้อยตาดำๆ เพราะคิดว่าถ้าปล่อยให้มีชีวิตรอด ในอนาคตอาจมาล้างแค้นแทนพ่อแม่ของตนที่ถูกฆ่าตายไป…เลวไหมครับ

หลังจากกองกำลังเขมรแดงเข้ายึดกรุงพนมเปญ ก็เริ่มกวาดล้างประชาชนนับล้านให้อพยพออกไปยังแถบชนบท ให้อยู่รวมกันและทำงานต่างๆ เช่น เกษตรกรรม โดยยึดหลัก…ความเท่าเทียมกัน

migrate.jpg

สัญลักษณ์และร่องรอยของความโหดเหี้ยมไร้ความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มนี้ยังเหลือให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้อยู่ 2 ที่หลักๆ ในกรุงพนมเปญครับ คือ

Map 02.png

  1. ทุ่งสังหาร (Killing Field) ซึ่งในเขมรมีหลายที่มาก แต่ที่ๆ คนรู้จักและจัดให้เป็นที่ท่องเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์ก็คือที่ Choeung Ek ในกรุงพนมเปญนี่เอง
  2. พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Tuol Sleng Genocide Museum) เป็นสถานที่จริงซึ่งในเวลานั้นได้เปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นคุกและที่ทรมานนักโทษจำนวนมากมาย ปัจจุบันถูกบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมๆ

Khmer Rouge Killing Fields (ทุ่งสังหาร)

หรือ Choeung Ek (เจืองเอ็ก) อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ 17 กิโลเมตร ที่นี่เหมือนเป็นรอยแผลเป็นของกัมพูชาที่ไม่มีวันไหนจะลบไปจากประวัติศาสตร์ได้

ที่ตรงนี้เคยเป็นสวนลำไยและพืชต่างๆ ที่เป็นสถานที่ทำงานของบรรดาชาวกัมพูชาที่ถูกพามาอยู่ที่นี่

ที่นี่มีการให้การศึกษาเด็กๆ หรือถ้าจะเรียกให้ถูกมันเป็นการ “ล้างสมอง” ซะมากกว่าให้พวกเด็กๆ มีความคิดฝังหัวให้เป็นพวกเดียวกับมัน มีพิพิธภัณฑ์ย่อมๆ อยู่ในตึกหนึ่งที่ตวลสเลง

รอบๆ ทุ่งสังหาร

กระโหลกศีรษะจำนวนมากกว่า 5,000 ชิ้น รวมถึงกระดูกของผู้ที่ถูกสังหารโดยเขมรแดง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1975  (พ.ศ.2518) ถูกนำมาเรียงไว้ในอนุสาวรีย์ หรือ สถูปรำลึกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

killingfield1.jpg

สถูปรำลึกตั้งตระหง่านอยู่ตรงทางเข้า และเป็นจุดเริ่มต้นการทัวร์ในทุ่งสังหารนี้

ที่นี่สามารถเดินชมได้ด้วยตนเอง โดยค่าเข้ารวม audio tour อยู่ที่ 6 ดอลลาร์ (USD) (ราคาปี 2018) มีภาษาไทยด้วยครับ เขาทำได้ดีทีเดียวครับทั้งลำดับการให้เดินชม น้ำเสียงและบทพูดมันจุกอย่างบอกไม่ถูก ผมใช้เวลาเดินอยู่ในทุ่งสังหารนี้กว่า 2 ชั่วโมง และสถูปรำลึกนี้จะเป็นจุดสุดท้ายที่เราจะแวะมากันครับตามหมายเลขในแผนที่ด้านล่าง

ที่นี่จะถูกล้อมรอบด้วยรั้วแน่นหนา 3 ด้าน ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นทะเลสาบขนาดเล็ก (รูปล่าง)

ปัจจุบันบรรยากาศของทะเลสาบนั้นดูสงบเงียบและร่มรื่นมากครับ แต่หารู้ไม่ว่าภายใต้ผืนดินอันเงียบสงบและผืนน้ำอันสงบนิ่งนั้น ยังมีศพจำนวนอีกมากมายกว่า 40 หลุมที่ยังไม่ได้ทำการขุดขึ้นมา และเขาจะไม่ขุดขึ้นมาอีก เพราะต้องการให้ผู้โชคร้ายเหล่านั้นได้อยู่อย่างสงบ…

จุดแรกที่เริ่มทัวร์ จะเริ่มเล่าตั้งแต่การลำเลียงผู้โชคร้ายมาที่นี่ ซึ่งส่วนใหญ่จะพามาจากคุก S-21 ซึ่งตอนนี้คือพิพิธภัณฑ์ตวลสเลงนั่นเองครับ คนเหล่านั้นจะถูกอัดขนกันมาบนรถบรรทุกโดยหลอกว่าจะพามายังบ้านหลังใหม่ (เรื่องราวเหมือนนาซีของคุก Auschwitz ไม่ผิดเพี้ยน)

และแสดงจุดที่เคยเป็นอาคารที่อยู่อาศัย ที่ทำการของกองกำลังเขมรแดง ซึ่งตอนนี้ไม่มีอาคารเหล่านั้นแล้วเหลือแต่ป้ายตามรูปด้านล่าง เพราะเมื่อเหตุการณ์สงบ ชาวบ้านได้เดินทางกลับมายังพนมเปญ และได้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นทิ้งและเอาส่วนที่ยังใช้ได้ไปสร้างที่อยู่อาศัยให้ตนเอง

ที่ทำการของกองกำลังเขมรแดง

ที่นี่ก่อนที่จะถูกแปรสภาพเป็นทุ่งสังหาร เคยเป็นแหล่งพิธีกรรมทางศาสนาของชาวจีนอยู่ก่อนดังจะยังเห็นศาลาพิธีกรรมและหลุมศพแบบจีนอยู่

ต้นไม้ต้นนี้ (รูปล่าง) ได้ชื่อว่าเป็น “ต้นไม้วิเศษ” (The Magic Tree) เพราะใช้เป็นที่แขวนลำโพงขยายเสียง ซึ่งตอนกลางวันใช้เปิดเพลงปลุกใจกระตุ้นให้ทำงาน ส่วนกลางคืน…ใช้เปิดเพื่อกลบเสียงกรีดร้องของผู้เคราะห์ร้ายที่ถูกฆ่า

ต้นไม้วิเศษ

ทางเดินชมระหว่างจุดทำไว้อย่างดี

ที่พักสุดท้ายของผู้เคราะห์ร้าย

หรือเรียกให้ถูกก็คือ “หลุมศพ” ของพวกเขานั่นเองซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วทุ่งสังหาร อย่างหลุมข้างล่าง พบศพกว่า 450 ศพ

ด้ายข้อมือถูกแขวนไว้ตามรั้วเพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิต

หลุมด้านล่างนี้ใช้ฝังศพหญิงและเด็กๆ ที่ถูกฆ่า ผู้หญิงหลายคนถูกข่มขืนก่อนฆ่า และเด็กทารกบางรายก็ถูกจับขาฟาดกับต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ข้างๆ ก่อนโยนศพลงไปในหลุม ทำให้ต้นไม้ต้นนั้นได้ชื่อว่าเป็น “ต้นไม้สังหาร” (The Killing Tree)

ต้นไม้สังหาร

สิ่งที่เหลืออยู่

ส่ิงที่ยังพอจะบอกว่ามีคนเคยถูกทารุณกรรมที่นี่ ก็มีแค่เศษกระโหลก กระดูก ฟัน เสื้อผ้าอาภรณ์นับพันๆ ชิ้น

เศษเสื้อผ้า (ซ้าย) และกระดูก (ขวา) ที่ยังเห็นอยู่ในสภาพที่โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน

เศษมีดพับ และกระเบื้อง

สถูปรำลึก…สุดท้ายก็ได้มาอยู่ร่วมกัน

กระโหลกศีรษะส่วนใหญ่มีร่องรอยการแตกทำให้รู้ได้ว่าถูกฆ่าด้วยอาวุธอะไร…

อาวุธที่ใช้สังหารและจองจำ

 

เดินจนครบรอบมาถึงสถูปนี้ด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูกครับ ไม่แตกต่างจากตอนที่ไปดู Auschwitz เลย พอออกมาเพื่อเดินทางต่อไปยังตวลสเลงก็เลยได้รู้ว่า คุณปู่และย่าของคนขับรถที่ผมจ้างในการเดินทางครั้งนี้ก็เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้เช่นกัน…

 

ก่อนออกจากทุ่งสังหารอย่าลืมแวะชมพิพิธภัณฑ์ด้วยครับ อยู่ทางด้านหน้าใกล้ๆ กับสถูปรำลึก

Tuol Sleng Genocide Museum (พิพิธภัณฑ์ ตวลสเลง)

“พิพิธภัณฑ์ตวลสเลง” (เรือนจำตวลสเลง หรือ S-21) แต่เดิมเป็นโรงเรียนมัธยมในกรุงพนมเปญ ประกอบด้วยตึกเรียน 4 ชั้น จำนวน 4 อาคาร ซึ่งถูกพวกเขมรแดงเปลี่ยนให้เป็น “คุก” หรือสถานจองจำและทรมานเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลาย (ค่าเข้า 5 USD)

Tuol sleng.jpg
รูปนี้ถ่ายไว้ตอนเดือนมกราคม ค.ศ. 1979

กฎเหล็ก 10 ข้อของผู้ที่ถูกคุมขังที่นี่ ถ้าฝ่าฝืนจะถูกทรมานและนำไปฆ่าทันที หรือถูกช๊อตด้วยไฟฟ้าหรือเฆี่ยนด้วยแส้

ตัวอย่างเนื้อความเช่น….ต้องตอบคำถามทุกคำถาม ห้ามเสแสร้งและปฏิเสธ ต้องตอบทันทีอย่าเสียเวลาคิด, ห้ามแสดงท่าทีหรือคำพูดที่แสดงถึงการต่อต้าน, ระหว่างทำโทษห้ามร้องไห้ ห้ามส่งเสียง, อย่าพยายามซ่อนความรู้สึกเพราะจะแสดงถึงการต่อต้าน

แผนที่ของโรงเรียน

จุดแรกเมื่อเข้าโรงเรียนมาจะพบลานหน้าตึก A เป็นหลุมศพ 14 หลุม ซึ่งศพเหล่านี้เป็นศพกลุ่มสุดท้ายที่พบที่นี่ก่อนจะถูกปิด

ตึก A (Building A)

สภาพเดิมๆ ของห้องเรียนที่เห็นแล้วก็ยิ่งปวดใจ

ภายในห้องมีเตียงจริงและรูปแสดงถึงความโหดร้ายและสภาพศพ ทั้งพื้นและผนังยังอยู่ในสภาพเดิมๆ ต่างก็แต่ไม่เห็นคราบเลือดหรือกลิ่นคาวก็เท่านั้น

บางห้องถ่ายรูปไม่ได้ครับ เลยเลือกถ่ายเฉพาะห้องที่ไม่มีป้ายติดไว้

เสื่อที่เคยใช้ห่อศพที่พบในห้อง

 

ตึก B “Building B”

ด้านหน้าของตึก B เห็นเครื่องทรมานเหยื่อ ซึ่งเดิมเครื่องมือหรือเสาที่เห็นเหล่านี้เป็นอุปกรณ์การออกกำลังกายของเด็กๆ มาก่อน

เครื่องแต่งการของเหยื่อและคนที่ถูกฝึก (ล้างสมอง) ให้เป็นกองกำลังเขมรแดง

มีการแสดงรูปของผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมาก (ห้ามถ่ายรูปครับ รูปด้านล่างเอามาจากอินเตอร์เนต) แต่รูปที่เป็นที่รู้จักและสะเทือนใจอย่างมากก็คือ รูปหญิงที่อุ้มทารกนั่งบนเก้าอี้ที่ใช้ถ่ายรูปคนที่ถูกพามาที่คุกแห่งนี้ ซึ่งหญิงคนนี้เป็นภรรยาของรัฐมนตรีในสมัยก่อนที่นายพล พตจะยึดอำนาจ และคงไม่ต้องบอกถึงชะตากรรมของแม่ลูกคู่นี้นะครับ…

ส่วนหนึ่งของวิธีการทรมานต่างๆ

 

ตึก C “Building C”

จะเห็นกรงลวดหนาม ซึ่งถูกขึงไว้เพื่อป้องกันนักโทษกระโดดฆ่าตัวตายหรือหนี

ชั้นพื้นดินและชั้นบน ห้องแต่ละห้องจะถูกซอยย่อยเป็นคุกเล็กๆ จำนวนมาก โดยชั้นพื้นดินจะเป็นคุกอิฐบล็อก และชั้นบนเป็นคุกไม้

ภาพด้านล่างเป็นผู้รอดชีวิตชื่อ Chum Mey (ผู้แต่งหนังสือ “Survivor”) กับคุกที่เคยใช้คุมขังเขา

 

ผู้รอดชีวิต

ข้อความจากผู้รอดชีวิตส่วนหนึ่งถูกนำมาถ่ายทอดอยู่ที่นี่

 

และรูปล่างนี่ก็คือ “ผู้รอดชีวิต” เช่นเดียวกัน ถึงคนเหล่านี้จะรอดชีวิตมาจนแก่ได้ แต่บั้นปลายสุดท้ายคงเป็นไปตามกรรมของแต่ละคน…

polpot copy.jpg
“วาระสุดท้าย” พล พต, เขียว สัมพัน, นวน เจีย

นายพล พตเสียชีวิตในวันที่ 15 เมษายน 1997 หลังจากที่ถูกจับและคุมขังอยู่ ซึ่งก็ยังเป็นปริศนาว่าตายเองหรือโดนฆาตกรรม

“ผมมาเพื่อต่อสู้สำหรับชนชั้นกรรมาชีพ  ไม่ใช่มาฆ่าคน แม้บัดนี้ คุณสามารถมองมาที่ผมได้ ผมเป็นคนเลวร้ายขนาดนั้นหรือ ?”

(“I came to carry out the struggle, not to kill people. Even now, and you can look at me, am I a savage person?”)

คำพูดสุดท้ายของนายคนนี้…ดูไม่สำนึกเลย

 

ประวัติศาสตร์มีไว้ให้เรียนรู้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำขึ้นอีก 

 

 

About Breathe My World 68 Articles
A man who love travelling the world.