แล-ลาดักห์ (EP. 1 เตรียมตัว เตรียมใจ) ปักหมุดเกือบสุดขอบอินเดีย

ได้ยินชื่อ “เลห์ ลาดักห์” มานาน จนได้มาเยือน สวยสมคำร่ำลือ จะเที่ยวทั้งที ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

ก่อนไป

ผมเดินทางช่วงสงกรานต์ของปี 2567 ก่อนไปคิดว่า ทริปนี้ถือเป็นทริปที่สบายสุดในรอบหลายปีก็ว่าได้ เพราะโปรแกรมและโรงแรมก็มีคนจัดการให้ ไม่ต้องขับรถเองด้วย ชิลๆ 🥴

🍌 ที่เราเรียกว่ามาเที่ยว “เลห์ ลาดักห์” จริงๆ แล้วคือเที่ยว “แคว้นลาดักห์” (แปลว่า ดินแดนแห่งขุนเขา) อยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ Jammu and Kashmir ซึ่งมีเมืองหลวงของแคว้นคือ “เมือง เลห์”

🍌 มีรากฐานทางวัฒนธรรมจากทิเบต ประชาชนที่นี่จะหน้าตาไม่เหมือนกับชาวอินเดียทั่วไปที่เราคุ้นเคยกัน จะคล้ายๆ กับชาวทิเบตมากกว่า รวมไปถึงศาสนสถานต่างๆ ด้วย ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ อัธยาศัยดี เป็นมิตร

🍌 อาหารเน้นผักและแป้ง เนื้อสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นไก่และแกะ

🍌 เที่ยวในลาดักห์ (นอกเมืองเลห์) ต้องขอ permit (ไปทำเรื่องขอที่นู่น) เนื่องจากยังอยู่ในโซนที่มีความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน เขาจะมีจุดตรวจใบ permit เป็นระยะๆ ซึ่งถ้าไปเที่ยวเองต้องไปยื่นเรื่องที่เลห์เลย และรออย่างน้อยๆ ก็ครึ่งวัน (บางทีก็ต้องรับวันรุ่งขึ้น และดูรีวิวบางท่านบอกว่าถ้าเดินทางคนเดียวก็ขอ permit ไม่ได้) คนวันลาน้อยอย่างพวกเรา คงไม่สะดวกนัก ปล. จะเห็นว่าระหว่างทางมีค่ายทหารเยอะมาก และห้ามถ่ายรูป‼️ ค่ายทหาร/ทหาร/พาหนะทางการทหาร นะครับ

🍌 การเดินทางด้วยตัวเองก็ไม่สะดวกสบายนัก เพราะรถโดยสารที่จะไปบางที่ก็ไม่ได้มีทุกวัน และมีไม่กี่รอบ คงต้องมีเวลาเป็นสิบวันถึงจะเที่ยวได้หมด (แล้วก็เหนื่อยมาก) ดังนั้น สิ่งที่คนนิยมกันมากที่สุดคือ หา local tour พาไป (ถ้าเดินทางเอง ที่นี่ก็เป็นที่ยอดนิยมของคนรักการเดินทางด้วยบิ๊กไบค์ ก็เป็นทางเลือกนึงสำหรับคนที่ชื่นชอบครับ)

🍌 Local tour ก็มีหลากหลายครับ ไปหาที่นั่น หรือหาจากไทยไปก่อน ตกลงราคา สถานที่ โรงแรม แค่บินไปให้ถึงก็เริ่มทริปได้ ทัวร์จากเมืองไทยส่วนใหญ่ก็ดีลกับ local tour อีกทีครับ

🍌 ผมเลือกใช้บริการของ Luckyteam in Ladakh (กดลิงค์ที่ชื่อได้เลย) การันตีว่าไม่ผิดหวังครับ คุณหนิงเจ้าของฝั่งไทยดูแลและให้คำปรึกษาได้อย่างดีมากครับ (ราคาทัวร์ = private tour, รถพร้อมคนขับ, ค่าโรงแรม, อาหารเช้าเย็น และความสะดวกอีกมากมาย คุ้มไม่รู้จะคุ้มยังไงแล้ว)  เราแค่ทำวีซ่าและกดซื้อตั๋วเครื่องบินแค่นั้น คนขับของเรา (Kesung) ก็บริการประทับใจและเอาใจใส่มาก ๆ ครับ เลือกทีม (ทัวร์) ดีมีชัยไปกว่าครึ่งครับ

Kesung ไกด์และคนขับรถของทริปเรา

🍌 ไฟลท์บิน ✈️ กรุงเทพ-เดลี (BKK-DEL) และต่อ เดลี-เลห์​ (DEL-IXL) สายการบินจากเดลีไปเลห์ มี Air India (full service), Vistara (full service), Indigo, SpiceJet ฯลฯ จองได้ตามสะดวก แต่ให้ตรวจสอบเรื่องน้ำหนักกระเป๋าและ terminal ที่ลง (ถ้าให้ดีก็ terminal 3 ทั้ง 2 ขาจะสะดวกไม่ต้องเปลี่ยน terminal ครับ เพราะได้ยินมาว่าไกลและค่อนข้างเสียเวลา) **ของ Air india แนะนำจองประมาณไม่เกิน 3 เดือนก่อนเดินทางครับเพราะราคาจะลงเยอะ ลองเช็คราคาดูทุกๆ วัน

🌸

ขาไปเลห์ นั่งฝั่งซ้าย (ขากลับเดลี นั่งขวา) ถ้านั่ง Air India (เครื่อง Airbus A320) แนะนำเลือกโซนหน้าก่อนแถว 9 (มักเสียเงิน) และโซนหลังแถวที่ 20 เป็นต้นไป (มักจะฟรี) จะถ่ายไม่ค่อยติดปีกเครื่องบิน (เช็ค seat map ของชนิดเครื่องบินด้วยครับ) (จริงๆ ขาไปเลห์ นั่งฝั่งขวาก็เห็นวิวเหมือนกันครับ แต่จะย้อนแสงช่วงเช้า)

.

🍌 ที่พัก 🛖 Luckyteam หาให้หมดครับ 😋 สบายยย การันตี ดีทุกโรงแรม 🏨 รูปด้านล่างเป็นวิวจากหน้าต่างที่พักที่ Pangong Lake ตอนกลางคืน เดินจากหน้าห้องไม่ถึง 10 ก้าว ก็จับช้างได้หนึ่งเชือก 🆘 แต่สำหรับที่พักไกลๆ อย่างที่ Tso Moriri นี่จะลำบากนิดนึงครับ ไม่มีฮีตเตอร์ (กับอุณหภูมิติดลบ) น้ำร้อนต้องต้มเอา เขาจะเอามาให้เป็นถังๆ เวลาเราขอ (แต่ก็ไม่ได้อาบอ่ะนะ หนาวซะขนาดนั้น) แต่เขาก็มีกระเป๋าน้ำร้อนให้ได้นอนกอดพอได้อยู่ ดังนั้นเตรียมถุงร้อนอะไรกันไปให้ดีครับ ส่วนที่ Pangong Lake ที่พักหลายที่ก็ไม่มีฮีตเตอร์ครับ ลองเช็คดูก่อน

🌸

Nubra Valley (ประหนึ่ง รร. ห้าดาว วิวสิบดาว)

.

🍌 ช่วงเวลาเที่ยว 🏔️ หาข้อมูลไปมา สรุปว่าน่าเที่ยวทั้งปี 😂 แล้วแต่ว่าชอบวิวแบบไหน แต่แนะนำช่วง เม.ย.-ส.ค. (เริ่มหมดหนาว ดอกไม้ใบไม้เริ่มมา) ถ้าใบไม้เปลี่ยนสีก็น่าจะช่วง ก.ย.-ต.ค. ครับ ช่วงที่ผมไปเป็นช่วงสงกรานต์ จะเป็นรอยต่อของหน้าหนาวกะร้อน ก็จะเริ่มมีดอกไม้ (apricot) บานบ้างแล้วให้อารมณ์คล้าย cherry blossom ที่ญี่ปุ่น ผสมผสานกับวิวเทือกเขาแปลกตา แต่ก็ยังมีหิมะหลงเหลือบางพื้นที่ ผสมผสานกับวิวเทือกเขาแปลกตา มันสวยมากครับ อากาศหนาวถึงหนาวมากๆ ขึ้นกับความสูงที่ไป

🌸

วิวกลางเดือนเมษาปลายหนาว มีดอกไม้ น้ำในทะเลสาบยังมีน้ำแข็งเป็นบางส่วน (สวยสุดๆ)

วิวเทือกเขา มีให้ได้ว้าวกันตลอดเส้นทาง จนหลับไม่ลง (ถ้าไม่เมารถซะก่อน)

.

🍌 ไปกี่วันดี 📆 แนะนำ 6-7 วัน (ไม่รวมวันเดินทาง) ครับ เพราะจะได้เก็บครบ และมีเวลาปรับตัวกับความสูงด้วย

🍌 วีซ่า 📚 ทำ eVisa ไม่ยาก วันเดียวอนุมัติเหมือนเงินติดล้อ สนนราคา 25 USD (หลังอนุมัติต้องเดินทางภายใน 30 วัน และอยู่ได้ 30 วันนับจากวันที่เข้าอินเดีย) ทำเองง่ายๆ ไปตาม 👉 ลิงค์นี้ เท่านั้นครับ‼️ (ที่เห็นในอินเตอร์เนตหลายๆ ลิงค์นั่นเป็นพวกเอเจนซี่ จะบวกค่าทำเพิ่มอีกหรือไม่ก็เป็นมิจฉาชีพ) เตรียมอัพโหลดแค่สำเนาพาสปอร์ต (PDF) และไฟล์รูปถ่าย (จตุรัส พื้นหลังขาว)

🍌 เตรียมตัวเที่ยวที่สูง 💊 ที่เลห์จะสูงประมาณ 3,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งจะมีแรงดันออกซิเจนในอากาศแค่ 66% เทียบกับที่ระดับน้ำทะเล และที่เที่ยวสูงสุดนั้นสูงถึง 4,500-5,600 เมตรเลย ทำให้มีโอกาสเกิดโรคหรือความผิดปกติจากการเที่ยวที่สูงได้ ที่เรียกว่า high-altitude sickness ซึ่งอาจมีอาการได้ตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนเป็นเยอะได้ (เช่น acute mountain sickness (AMS), น้ำท่วมปอด (high altitude pulmonary edema, HAPE) หรือสมองบวม (high altitude cerebral edema, HACE) หรือเสียชีวิตได้) แนะนำให้มีการเตรียมตัวก่อนไป โดยเฉพาะการกินยา acetazolamide (diamox) ล่วงหน้าและกินต่อเนื่องช่วงที่ยังขึ้นที่สูงสุด ที่สำคัญคือ ยังไม่มีปัจจัยใดสามารถทำนายได้ว่า “ใครจะเกิดภาวะนี้” คนที่แข็งแรงดี ออกกำลังกายตลอด ก็สามารถเป็นได้ครับ ซึ่งอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมบางอย่างมาเกี่ยวข้องด้วย (อ่านเพิ่มเติม 👉 ลิงค์นี้) คนมีโรคประจำตัวหรือไม่แน่ใจให้ปรึกษาแพทย์ก่อนครับ

.

🍌 อินเตอร์เนต 🛜 ไม่มี 4G/5G ให้ใช้ที่เลห์ ใช้ได้แค่ wifi โรงแรม ซึ่งก็ไม่ได้แรงอะไร ติดๆ หลุดๆ ส่วนที่ทะเลสาบ Pangong และ Moriri โรงแรมไม่มี wifi ครับ ตัดขาดจากโลกอินเตอร์เนตเกือบ 3 วัน 2 คืน (จริงๆ SIM local นั้นมีอยู่ครับ แต่นักท่องเที่ยวน่าจะใช้ไม่ได้ เหมือนจะมีข้อกำหนดหรือรอเวลา activate SIM หลายวัน (อันนี้ไม่แน่ใจ) เลยทำให้ไม่ได้ใช้ แล้วก็สัญญาณเนตในหลายพื้นที่ก็ไม่มีเหมือนกัน เขาเลยแนะนำว่าไม่ต้องใช้ครับ)
.


หลังกลับมา

🇮🇪 มันสวยมาก สวยสมคำร่ำลือ คุ้มแล้วที่ได้มา

.

🇮🇪 แต่จากที่คิดว่าเที่ยวสบายๆ แต่มันเหนื่อยมาก (อันนี้เห็นทริปอื่นเขาชิลๆ กัน…ที่ผมเหนื่อยอาจเพราะความอาวุโสด้วยมั้งครับ แต่เล่าเพื่อให้เตรียมใจกันไว้หน่อย) เพราะนั่งรถนาน กระเด้งกระดอนไปตามสภาพถนน ที่ๆ นึงก็นั่งไปอย่างต่ำๆ ก็ 3-6 ชั่วโมง แต่ก็มีวิวข้างทางให้ได้เสพ ตาสว่างตลอดเวลา ใครเมารถง่าย อย่าลืมกินยาแก้เมารถกันไว้ล่วงหน้าครับ (กิน dimenhydrinate ระวังหลับอดดูวิวนะครับ 🤣 ผมเลยกินแค่ครึ่งเม็ด ได้ผลดี ไม่เมา และไม่ง่วง)

.

🇮🇪 นอกจากเหนื่อยจากการนั่งรถนานแล้ว ยังมีอากาศหนาว ปากแตก อากาศแห้งมากกกๆ จมูกแห้งแสบมาก (ตอนนอนก็แสบจมูกมาก ทำให้นอนไม่ค่อยสนิท) แถมฝุ่นเยอะด้วยนะครับ เพราะสภาพถนน เป็นลูกรัง off road ถึงในเมืองก็ตาม ฝุ่นก็ยังเยอะ ดังนั้นแนะนำให้เตรียมตัวให้ดี ช่วง เม.ย. อุปกรณ์กันหนาวก็ต้องพร้อม วาสลีนทาปากและในจมูก หน้ากากหรือผ้าปิดป้องกันฝุ่น จะช่วยได้มากครับ

🌸

ปากแตก จมูกตัน ต้องอ้าปากหายใจ 🥲

.

🇮🇪 ถ้ามาฤดูร้อน ช่วง ก.ค. อากาศน่าจะสบายกว่านี้ครับ แต่ก็เสียดายวิวดอก apricot ในช่วงเดือน เม.ย. มันสวยคุ้มอยู่ แต่ฤดูหนาวปลายปีนี่ขอบายและส่วนตัวไม่ค่อยแนะนำ

🇮🇪 สังเกตอาการตัวเองให้ดี ปกติอยู่บนที่สูงจะเหนื่อยง่ายอยู่แล้ว แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อยกว่าเพื่อน ปวดหัว แน่นหน้าอก ปากเขียวโดยเฉพาะหลังออกแรง ให้รีบแจ้งไกด์หรือคนขับ เพื่อประเมินอาการให้ทันท่วงที ตอนผมไปพกเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (pulse oximeter) ไปด้วย ตอนเอาไปก็ไม่ได้คิดอะไร อยากรู้แค่ว่าตอนอยู่ที่สูงออกซิเจนมันต่ำจริงไหม แต่ปรากฎว่าช่วยได้มาก ถ้าใครมีอาการ ก็ลองวัดดูถ้าต่ำมาก ก็เป็นสัญญาณเตือนได้ว่าต้องบอกไกด์นะว่าเราเริ่มผิดปกติ จะได้ไม่ต้องรอจนมีอาการมาก (แต่หมอที่เลห์เขาบอก อย่าตระหนกกับ “ตัวเลข” มากนัก ให้ดูอาการร่วมด้วยเป็นหลัก)

🇮🇪 ถ้าถามว่า คนปกติขึ้นที่สูงแล้ว ออกซิเจนก็จะต่ำอยู่แล้ว แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า คนที่ต่ำมากๆ นั่น “ต่ำผิดปกติ” หรือ “ต่ำแบบปกติ” 👉 ไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าต่ำเท่าไรถึงบอกว่า “ผิดปกติ” แต่ลองให้เทียบกับเพื่อนที่ไปด้วยกันที่อาการปกติครับ ถ้าออกซิเจนเราต่ำกว่าเพื่อนเกิน 10% ขึ้นไป (อิงตามคำแนะนำของ CDC Yellow Book 2024) นี่เราผิดปกติแน่ๆ (ถ้าต่างกันไม่ถึง 10% แต่มีอาการ ก็ต้องพิจารณาเป็นคนๆ ไปครับว่าผิดปกติหรือเปล่า)

🌸

ช่วงแรกออกซิเจนในเลือดเมื่ออยู่ในที่สูง จะต่ำเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าอาการปกติ ก็ไม่ต้องตกใจ เดี๋ยวร่างกายจะค่อยๆ ปรับเอง

.

🇮🇪 แนะนำให้กิน acetazolamide (diamox) ทุกคนตั้งแต่ก่อนถึงเลห์อย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง และกินจนถึงวันที่เที่ยวถึงจุดสูงสุด (คือ Tso Moriri) หลังจากนั้นจะหยุดยาหรือจะกินต่อจนลงมาเลห์ก็ได้ ขนาดยาแนะนำ 125-250 มก. วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) แต่หมอที่เลห์ แนะนำให้กิน 250 มก. วันละ 2 ครั้ง ไปเลยครับ ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ชาปลายนิ้ว มึนศีรษะ มีเสียงในหู เป็นต้น แต่มักจะไม่รุนแรง

🇮🇪 วันแรกที่ถึงเลห์ (สูง 3,500 เมตร) วัดออกซิเจนกันดู ก็ได้ประมาณ 85-90% ซึ่งก็เป็นปกติของคนที่เพิ่งขึ้นที่สูง ส่วนใหญ่จะค่อยๆ ปรับตัวได้ภายใน 1-2 วัน และออกซิเจนปลายนิ้วก็จะกลับมาปกติเอง แล้วแต่ความสามารถของการปรับตัวแต่ละคน (แต่ก็ยังเหนื่อยง่ายอยู่ ดังนั้นค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เดิน อย่ากระโดดโลดเต้นมากนัก)

🇮🇪 วันที่ 5-6 ของทริปก็ขึ้นสูงไปอีก คือที่ทะเลสาบ Pangong และ Moriri แต่ส่วนใหญ่เรามักจะปรับตัวได้แล้ว และไม่ค่อยมีปัญหา แต่บางคนอาการอาจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น พอขึ้นที่สูงต่อเลยอาการแย่เลยก็มีครับ ดังนั้นช่วงก่อนขึ้นไปทะเลสาบถ้ามีอาการผิดปกติไม่เหมือนเพื่อน เช่น ปวดหัวมาก มึนหัว อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ กินไม่ได้ แน่นหน้าอก ไอ ออกแรงแล้วเหนื่อยมากหรือปากเขียว หรือถ้าวัดออกซิเจนปลายนิ้วแล้วต่ำมากกว่าเดิม เช่น น้อยกว่า 85% ก็รีบแจ้งไกด์ครับ

.

.

🇮🇪 เน้นว่า อาการของ high-altitude sickness จะ “แตกต่างกันไปในแต่ละคน” ทุกคนไม่จำเป็นต้องมีอาการเหมือนกัน เช่น ทุกคนไม่จำเป็นต้องปวดหัว ถ้าเหนื่อย เขียว ออกซิเจนต่ำมาก ๆ นั่นก็ถือว่าเป็นแล้วนะครับ ต้องได้รับการประเมินอย่างเร็ว (ทฤษฎีว่า ต้องมีปวดหัวเป็นเกณฑ์หลักในการวินิจฉัย AMS แต่ข้อมูลจริงๆ ก็มีคนไข้ประมาณ 5-10% ที่ไม่มีอาการปวดหัวครับ) เช่น ถ้าไม่ค่อยปวดหัว แต่ออกซิเจนต่ำแบบ 60-70% นี่ก็ไม่ใช่อาการจากออกซิเจนต่ำธรรมดาแล้วนะครับ ส่วนตัวยังเชื่อว่าให้การวินิจฉัยเป็น AMS ได้หรือต้องระวังว่าจะเป็น HAPE หรือไม่ (เพราะ AMS เฉยๆ ออกซิเจนอาจจะไม่ได้ต่ำมากๆ ถ้าต่ำมากก็ระวังน้ำท่วมปอด…พบน้อยแต่อันตราย) ต้องได้ทำอะไรซักอย่าง เช่น ให้ออกซิเจนระยะสั้น ๆ แล้วประเมินซ้ำ ถ้าไม่ดีขึ้นอาจต้องไป รพ.ให้แพทย์ประเมินอีกทีว่าต้องเอ็กซเรย์ปอด หรือให้ยา dexamethasone หรือรักษาอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่

🇮🇪 ถ้ากินยาบรรเทาอาการปวดหัว แนะนำยากลุ่ม NSAIDs (ที่หลายคนคุ้นเคย เช่น diclofenac, ibuprofen, ponstan, naproxen) ถ้ากินยากลุ่มนี้ระวังด้วยครับ ยาช่วยให้หายปวดหัว แต่ก็มีผลข้างเคียงไม่น้อย เช่น กัดกระเพาะ เลือดออกในกระเพาะ มีผลกับตับ/ไต เป็นต้น ใครมีโรคประจำตัวปรึกษาแพทย์ก่อนและกินด้วยความระมัดระวังตามขนาดยาปกติที่แพทย์แนะนำ และกินหลังอาหาร ดื่มน้ำตามเยอะๆ ครับ (กรณีอาการไม่มาก ลองพาราเซตามอลก่อนได้ครับ ปลอดภัย)

🇮🇪 ที่ลาดักห์นี่ ถ้าเข้าโรงพยาบาล ค่าบริการถูกมากหรือฟรี เอ็กซเรย์ฟรี ค่ายาก็ถูกมาก แต่‼️ ไม่ต้องได้เข้าจะดีที่สุด

🇮🇪 อาหาร แล้วแต่ชอบครับ วันแรก ๆ เพียรถ่ายอาหารไว้ทุกเมนู วันหลังๆ…มันก็เหมือนเดิมนี่หว่า 🤣…สองวันสุดท้าย กินไม่ลงละ 🤣 ต้องพึ่งมาม่า น้ำพริก และโจ๊กซอง

.

🇮🇪 ห้องน้ำ เป็นสิ่งที่หลายคนเป็นห่วงโดยเฉพาะคุณผู้หญิง จริงๆ ห้องน้ำมีกระจายอยู่ตามเส้นทางเลย แต่จะเป็นแบบ local ธรรมชาติหน่อยซึ่งก็เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่มีทรัพยากรน้ำจำกัด (ที่อาจจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ เท่าไรนัก) ถ้าไม่สะดวกเข้าแบบนี้ ให้บอกคนขับรถ หา good toilet เข้าได้ จะมีอยู่ตามเมืองเล็กๆ ระหว่างทาง

🌸

รูปขวาล่างเป็นวิวจากห้องน้ำที่จุด Khardong la Pass (ให้ยืนมองวิว จะได้ไม่ต้องก้มลงไปดูที่โถ 🤣)

.

🇮🇪 น้องหมาน้อย สีสันระหว่างเดินทาง

.

“จุดหมายไม่สำคัญเท่าระหว่างทาง”

🍀

🇮🇪 (บ่น) หลังจากเที่ยวลาดักห์เสร็จ ตอนต่อเครื่องที่สนามบินเดลี นาน 10 ชั่วโมง ทำให้แทบไม่อยากกลับมาอินเดียอีก ร้านค้าในสนามบินพร้อมใจกัน “โกง” ตั้งแต่คิดค่าน้ำเกินราคาแถมยังยื่นน้ำที่ไม่มีฉลากมาให้ (สงสัยกรอกขายเอง เอาตังค์เข้ากระเป๋า) ทั้งที่น้ำที่มีฉลากเต็มตู้, แกล้งทอนเงินผิด, ซื้อของ 2 ชิ้นแต่คีย์ในเครื่อง 3 ชิ้นและคิดเงินเรา 3 ชิ้น ฯลฯ (เน้นว่าร้านในโซนสนามบิน) พอทักไปก็ทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้ ความเป็นมิตรของคนเดลี ต่างจากคนที่ลาดักห์ที่เราเพิ่งจากมาอย่างมาก

.

สรุปสั้น ๆ ว่า มันสวยจริง ๆ รายละเอียดของแต่ละที่ ไว้ค่อยแยกไปอีกกระทู้นึงครับ รูปมันเยอะ ☺️

About Breathe My World 30 Articles
A man who love travelling the world.