พูดถึงแสงเหนือผมก็จะคิดถึงไอซ์แลนด์ขึ้นมาเป็นอันดับแรก แต่หลังๆ เห็นคนไป “Lofoten” กันเยอะขึ้น ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเกาะแก่ง ภูเขาละลานตา และเขาว่าโอกาสเห็นแสงเหนือก็เยอะด้วย เลยตัดสินใจไปกันเลยโดยไม่ต้องลังเล
บทความเกี่ยวข้องอื่นๆ ตามที่ลิงค์ด้านล่างเลยครับ
- Ep. 1 ทิปการตามหาแสงเหนือ >>> You are here!
- Ep. 2 เกาะในฝัน สวรรค์บนดิน >>> Click!
- Ep. 3 มานอร์เวย์ไม่ไปออสโลแล้วจะไปไหนดี >>> Click!
สารบัญ
ทิปการตามหาแสงเหนือ
ขอไม่ใช้คำว่า “ล่า” แสงเหนือ เพราะผมก็ไม่ได้ล่าแบบจริงๆ จังๆ ออกจะงงๆ ซะด้วย เพราะเป็นออกมาดูแสงเหนือครั้งแรก ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทุลักทุเลพอสมควร
- วันแรก – เอาแต่ดูพยากรณ์ใน app Kp index น้อย เมฆเยอะ ออกไปด้อมๆ มองๆ ใกล้ๆ บ้านแป๊บนึง ก็นอน…(ฮา)
- วันที่ 2 – Kp น้อย (1) มีเมฆ ไม่ออกละ ก็นอน (ฮาอีก)
- วันที่ 3 – Kp น้อย (1-2) มีเมฆ แต่ไม่ฮาละ กลัวไม่เห็น ปลุกกันตอนตี 2 ออกไปที่ชายหาด…รอเก้อ
- วันที่ 4 – Kp เยอะขึ้น (2-4) มีเมฆ ฮาไม่ออก เร่ิมกระสับกระส่าย เดี๋ยวจะจบทริปแบบกลับไปตาเปล่า วางแผนจะออกกันหลังเที่ยงคืน…โชคดีที่เจ้าของที่พักเดินมาทักทาย (เทวดามาโปรด) เขาเลยบอกว่า ออกไปเลยตอนสองทุ่ม เที่ยงคืนมันดึกไป! ให้ไปตรงนั้น หันหน้าตรงนี้…สรุป mission complete (เฮ!!!) ทำให้รู้ว่า ที่เดาเอาเองนั้น…“ผิดเกือบหมด”
งั้นลองมาดูเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการหาแสงเหนือกันดีกว่า
- สถานท่ี
- ควรหาสถานที่มืดๆ ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน แต่ถ้า Kp สูงๆ ที่สว่างก็ยังเห็นได้เหมือนกัน
- ถ้าจะให้รูปสวย ควรมี foreground, background ที่น่าสนใจ เช่น ภูเขา ชายหาด หรือบ้าน แต่ถ้า foreground เป็นเมืองหรือบ้าน เวลาตั้ง speed shutter นานๆ แล้วไม่ได้ใช้ ND filter ส่วนเมืองที่มีแสงไฟมันอาจจะสว้างจ้าเกินไป จนทำให้รูปไม่สวย
- ดังนั้นควรต้องมีการวางแผนก่อนว่าจะถ่ายที่ไหน ง่ายๆ คือ ตอนกลางวันควรไปสำรวจสถานที่จริงก่อน จะได้คิดไว้คร่าวๆ ว่าจะหันไปทางไหน ตั้งกล้องตรงไหน เพราะถ้าดุ่ยๆ ไปกลางคืนเลย การจะมาหา location ในสภาพอากาศหนาวเหน็บและมืดสนิทเนี่ย มันไม่ง่ายเลย บางครั้งคนถ่ายตรงนั้นก็เยอะ ไปยืนเก้ๆ กังๆ ฉายไฟฉายไปมา จะโดนเขาด่าอีกเพราะไปบังกล้องเขา
- เวลา
- ฤดูหนาวจะมีโอกาสเห็นมาก ถ้าเป็นที่ Lofoten ช่วงปลายกันยายน-ปลายมีนาคม จะมีโอกาสเห็นมากตามรูปด้านล่าง แต่เวลาที่เหมาะจริงๆ น่าจะเป็นช่วง กันยายน-ตุลาคม กับ กุมภาพันธ์-มีนาคม ครับ เพราะมีกลางวันพอๆ กับกลางคืน ไม่ใช่มืดมันทั้งวันจะพาลเอาไม่ได้เที่ยวอย่างอื่นกันพอดี และอากาศก็ไม่หนาวเหน็บทรมานเกินไปนัก
- อย่าคิดว่าต้องออกตามหาหลังเที่ยงคืนเสมอไป ดู Kp, สภาพอากาศ ประกอบกัน
- พยากรณ์นั้นสำคัญไฉน
- พยากรณ์ก็คือพยากรณ์ ไม่ได้แม่นเสมอไป ทั้งพยากรณ์อากาศและพยากรณ์แสงเหนือ แต่ก็ยังสำคัญนะครับ เพราะทำให้เราวางแผนคร่าวๆ ได้
- อากาศที่ Lofoten นี่ค่อนข้างแปรปรวน บางทีบอก cloudy แต่กลับ sunny เฉยเลย บางทีแดดออกดีๆ อยู่ๆ หิมะก็ตกอะไรประมาณนี้ ส่วนใหญ่ต้องดูพยากรณ์อากาศกันวันต่อวัน หรืออย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงล่วงหน้า
- การเห็นแสงเหนือขึ้นกับ หลายปัจจัย ทั้ง Kp, สภาพฟ้าเปิด, เวลาและสถานที่เหมาะสม ลองดูรูปด้านล่างกัน อันนี้ประสบการณ์จากทริปนี้เลย
>>> หาก Kp ต่ำ แต่ถ้าฟ้าเปิด ไปสถานที่เหมาะสม ก็เห็นได้ แต่ต้องลองเอากล้องถ่ายทดสอบดู เพราะอาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า
>>> แต่ถ้า Kp สูง แต่เมฆเต็มฟ้า ก็อาจยากที่จะได้เห็นครับ (ฮืออออ)
- Kp index ต้องสูงขนาดไหนถึงเห็น
- ตรงไปตรงมา คือยิ่งสูงยิ่งเห็น (มีค่าตั้งแต่ 0-9)
- แต่ถ้าเอาให้จำเพาะเจาะจงขึ้น ก็คือ ขึ้นอยู่กับประเทศครับ ยิ่งอยู่ทางเหนือยิ่งเห็นง่าย อธิบายตามรูปล่าง เช่น เราไป Lofoten ซึ่งอยู่ตอนเหนือของนอร์เวย์ Kp 2-3 ก็เห็นได้แล้ว ถ้าเหนือขึ้นไปอีกนิดอย่าง Tromso แค่ Kp 1 ก็เห็นแล้ว
- มองตาเปล่าจะเห็นเหมือนในรูปไหม
-
- ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นแค่แถบสีขาวๆ จางๆ บนท้องฟ้าไม่ได้เป็นสีเขียวแบบในรูปถ่าย หลายครั้งจะงงๆ ว่ามันเมฆหรือแสงเหนือ
- ถ้าเยอะหน่อยจะเห็นเป็นแถบขาวๆ วิ่งไปมา (คล้ายๆ แสงเหนือเต้นระบำ) ถึงจะไม่เขียวแต่มันก็สวยประทับใจและน่าอัศจรรย์มากครับ (ดังนั้นถ้าเห็นครั้งแรกอย่าเอาแต่ถ่ายรูป มองและดื่มด่ำด้วยตาเปล่าด้วยจะจำไม่ลืม แต่อย่าเพลินจนแสงหมดแล้วยังไม่ได้ถ่าย (ฮา))
- ถ้ามองไม่เห็นจริงๆ ลองใช้กล้องถ่ายท้องฟ้าทดสอบดู (อาจตั้งกล้องให้รูรับแสงกว้าง (ค่า f เลขน้อยที่สุดของเลนส์), speed shutter นานหน่อย (เอาซัก 5 วินาทีก่อน), ISO ซัก 3200 หรือมากกว่า) ถ้าเริ่มเห็นค่อยตั้งกล้องเพื่อถ่ายจริงใหม่และปรับตามสภาพแสงที่ได้
- ถ้า Kp สูงๆ เขาว่ามองตาเปล่าอาจจะออกเป็นสีเขียวได้ (อันนี้ไม่เคยเห็นเหมือนกันครับ)
- ถามคนพื้นที่ ถ้ามีโอกาสควรถามครับ เขาอาจจะบอกเราได้ว่าวิวไหนดี ต้องหันหน้าทางไหน ออกเวลากี่โมง และวันนี้จะมีไหม
- เตรียมเครื่องแต่งกายให้พร้อม เพราะมันหนาวมาก ถ้ามือแข็ง เท้าเย็น จะพาลให้ถ่ายไม่ไหวซะงั้น อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัว พอมันหนาวมากๆ ก็ถ่ายต่อไม่ไหว จะนั่งรอในรถให้มืออุ่นค่อยออกไปถ่ายต่อแสงก็หมด อีกทั้งยังเกรงใจเพื่อนๆ ที่ไปด้วยกันอีก ต้องมารอเราคนเดียว
- ซื้อทัวร์แสงเหนือดีไหม อันนี้สะดวกสุดๆ ยิ่งถ้าเป็น local tour จะยิ่งดี (มีให้เลือกเยอะแถว Tromso แต่ยังไม่เคยเห็น local tour ที่ Lofoten ครับ เห็นแต่ทัวร์จากไทยเราเอง) เขาจะรู้ทำเล ทิศทาง ถ้าตรงนี้ไม่เห็นจะพาไปตรงไหน และส่วนใหญ่มีการเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้พร้อม มีเครื่องดื่มอุ่นๆ ให้ระหว่างรอ แต่ราคาก็แพงแสนแพง แต่!!! อย่าลืมนะครับว่าเขาก็เนรมิตแสงเหนือไม่ได้ ถ้าซวยจริงๆ ไม่เห็นแสงเหนือ เขาไม่คืนเงินนะคร้าบบบ
- ตั้งกล้องยังไงดี มีหลายสูตรเลยครับ แต่ละคนแนะนำตัวเลขที่แตกต่างกันจนบางครั้งเราก็งงว่าจะตามใครดี แต่ไม่ต้องกังวล หลักง่ายๆ คือ ตั้งกล้องให้แสงเข้ากล้องมากๆ เพราะข้างนอกมันมืด หลักการมีดังนี้ครับ
-
- อย่าลืมขาตั้งกล้อง, ถ้ามีรีโมทหรือสายลั่นชัตเตอร์ยิ่งดี
- ตั้ง manual mode
- ตั้ง manual focus (MF) เพราะในสภาพท้องฟ้าที่มืดมาก การใช้ autofocus (AF) กล้องมันจะหาจุดโฟกัสไม่เจอวืดไปวืดมาและกดชัตเตอร์ไม่ได้ แต่ก่อนท่ีจะตั้งเป็น MF ให้ใช้ AF หาจุดโฟกัสของ foreground ที่สว่างก่อน เช่น ที่ภูเขา บ้าน หรือตำแหน่งที่จะมีคนไปยืน แล้วค่อยเปลี่ยนเป็น MF จะทำให้ foreground เราชัดสวยไม่เบลอ (ถ้าฉากอยู่ไกลก็ไม่เป็นไร ตั้ง MF ให้อยู่ในระยะ infinity เลย)
- ปิดกันสั่นที่เลนส์หรือกล้อง
- รูรับแสงกว้างๆ (ค่า f ตัวเลขน้อยๆ เช่น 1.4, 2.8)
- Shutter speed นานหน่อย (เช่น 5-10 วินาที) ไม่ควรตั้งนานเกินไปเพราะจะทำให้แสงเป็นปื้นๆ ไม่เป็นริ้วเป็นเส้นสวยๆ
- ISO สูงหน่อย (เช่นเริ่มที่ 1200-3200) ไม่ควรตั้งสูงเกินไปเพราะจะทำให้รูปมี noise เยอะมากไม่สวย แต่ถ้า ISO ตำ่เกินไปรูปจะมืดและเราต้องดัน shutter speed นานขึ้นทำให้แสงเป็นปื้นไม่สวยเช่นกัน
- ถ่ายแต่ละรูปต้องดูทุกครั้งว่าได้แสงเป็นยังไง ฉากเป๊ะไหม และดูรูปที่ได้หลังถ่ายทุกครั้ง ปรับกล้องตามสภาพแสงและรูปที่ได้ ผมถึงบอกว่ามันไม่มีสูตรตายตัว จำไว้แค่หลักคร่าวๆ พอ ค่าที่ได้รูปสวยที่สุด ณ เวลานั้นอาจไม่ใช่ค่าที่บอกไปข้างต้นก็ได้
- เตรียมเครื่องแต่งกายให้พร้อม ทำร่างกายให้อุ่นๆ ข้อนี้สำคัญครับ ที่เห็นเขียนทฤษฎีด้านบน ก็ใช่ว่าผมจะถ่ายสวยนะครับ ของจริงมันหนาวมาก ตั้งผิดตั้งถูก มองฉากก็ไม่เห็น มือก็เจ็บถอดถุงมือมาปรับแต่ละทีนี่ทรมาน (คือไม่ได้สำรวจพื้นที่มาก่อน เจ้าของบ้านบอกให้ไปถ่ายตรงไหน ก็ไป ทั้งที่ไม่เคยไปมาก่อน เลยไม่รู้อะไรอยู่ตรงไหน ฉากเอียงไปเอียงมา) รูปตัวเองเลยออกมาได้ไม่ถูกใจเท่าไร
- อีกอย่างที่สำคัญคือ มารยาทในการถ่ายรูป ครับ เห็นใจคนที่มาถ่ายรูปเหมือนกันด้วยครับเพราะทุกคนก็อยากได้รูปสวยๆ เหมือนกัน เช่น อย่าตั้งกล้องขวางเขา (คุยกันดีๆ) บางคนพกมาตั้ง 3 ตัว วางแผ่เต็มหน้างาน คนอื่นเข้าไปตั้งถ่ายไม่ได้เลย พอเดินไปใกล้นิดหน่อยก็โดนว่า, อย่าเดินไปเดินมาบังกล้องเขา, อย่าสาดไฟฉายไปมา และอย่าตะโกนคุยกันเสียงดัง
อย่างรูปบนนี้ของเพื่อนที่ไป เจอฝรั่งตั้งกล้อง 3 ตัวรวด จะขยับไปตั้งใกล้ๆ ก็โดนว่าหลายรอบห้ามเข้ามา ถ่ายหลบยังไงก็ติดกล้องเขาอยู่ดี และแสงไฟจากกล้องฝรั่งท่านนั้นก็แดงสว่างรบกวนรูปคนอื่นตลอดเวลา ถ้าที่แคบมีหลายคนไปถ่ายก็คิดถึงใจเขาใจเราบ้างครับ
- App หรือ website แนะนำ
-
- Website: Norway-lights.com
- App: Aurora Alerts และ My Aurora Forecast
ข้อควรรู้สั้นๆ กับการเดินทางไป Lofoten
วีซ่าและสกุลเงิน
- ใช้เชงเก้นวีซ่า วิธีและขั้นตอนเหมือนกับวีซ่าเชงเก้นจากประเทศอื่นๆ ครับ หาอ่านได้ทั่วไป
- สกุลเงิน norwegian krone (NOK) แลกไปได้จากไทยครับที่ superrich อัตราไม่แตกต่างกับแลกยูโรแล้วเอายูโรไปแลกที่นู่นเท่าไร
- การใช้บัตรเครดิตกับเครื่องอัตโนมัติ (เช่น ซื้อตั๋วรถ, จอดรถ, ปั๊มน้ำนมัน) ส่วนใหญ่ต้องกด pin ดังนั้นต้องหาแผนสำรองหากใช้ไม่ผ่าน เพราะเราไม่ค่อยจะมี pin ใช้กัน เช่น เตรียมเงินสดสำรองไว้, เข้าปั๊มที่มีซุปเปอร์มาร์เกตจ่ายค่าน้ำมันเป็นเงินสด เป็นต้น
เที่ยวเดือนไหน
- ชอบเขียวสดใส อากาศสบาย ต้องฤดูร้อนครับ (มิถุนายน-สิงหาคม) ถือว่าเป็น high season ของที่นี่เลย มีกิจกรรมมากมาย เช่น ล่องเรือ เล่นเซิร์ฟ ปีนเขา เดิน trekking
- ชอบหิมะ หรือตามล่าแสงเหนือ แนะนำเดือนตุลาคมและมีนาคมครับ (ช่วงตุลาคมอาจยังไม่ค่อยมีหิมะ) เพราะเวลากลางคืนจะพอๆ กับกลางวัน เที่ยวกลางวันก็ได้และดูแสงเหนือก็ดี อีกทั้งไม่ได้หนาวเย็นจนทรมานมากนัก ถ้ามาช่วงธันวาคม-มกราคม จะหนาวมากและมีช่วงสว่างน้อย
เดินทางไปเกาะ
- เครื่องบิน ผมแนะนำฐานที่มั่นของสนามบินอยู่ 2 เมืองหลักๆ คือ Leknes และ Svolvaer ผมเลือก Leknes เพราะอยู่ใกล้ที่เที่ยวหลักๆ มากกว่า (ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่เกาะทางใต้) โดยเริ่มต้นที่เมืองหลวงอย่าง Oslo เครื่องบินที่ลงที่เกาะจะเป็นของ Wideroe (กดลิงค์) ซึ่งเที่ยวบินส่วนใหญ่จะต้องต่อเครื่อง 1 ครั้งที่เมือง Bodo แต่ก็มีบินตรงเหมือนกันนะครับแต่จะบินเฉพาะวันจันทร์และศุกร์เท่านั้น (แพงกว่านิดนึง)
- ขับรถ บางคนเลือกทางนี้ อาจขับมาจาก Tromso ก็ได้ แต่ใช้เวลานาน (มาก) ประมาณ 7 ชั่วโมงได้ เลยตัดตัวเลือกนี้ไปโดยไม่ต้องคิด
- เรือเฟอร์รี่ โดยขึ้นมาจากเมือง Bodo ลองดูข้อมูลจาก ลิงค์ นี้ได้ครับ
วิธีเที่ยวในเกาะ
- รถบัสสาธารณะ ไม่แนะนำครับ เพราะรอบนานมาก และการเที่ยวจะไม่ได้ทุกที่และไม่ยืดหยุ่น
- ขับรถ (พวงมาลัยซ้าย)
-
- เป็นวิธีที่ดีที่สุด และแนะนำครับ
- ถ้าเช่าล่วงหน้านานๆ (ผมจองก่อนห้าเดือน) ราคาจะถูกกว่าจองใกล้ๆ เกือบเท่าตัว
- ที่นี่ขึ้นชื่อว่าถนนแคบ แต่ก็สวนกันได้สองคันนะครับ ถ้าสวนรถใหญ่ก็ช้าๆ นิดนึง อย่าตื่นตกใจหักลงข้างทาง เพราะที่เห็นหิมะคลุมระดับเดียวกับถนนนี่อาจเป็นไหล่ทางที่ลึกลงไปก็ได้ครับ ตกลงไปแล้วขึ้นไม่ได้แน่ๆ ตอนไปนี่ก็มีรถตกถนนให้เห็นอยู่ประปราย รูปล่างเป็นรูปของรุ่นน้องที่เขาไปมาก่อนและรถตกไหล่ทาง ถึงกับเป็นข่าวท้องถิ่นเลยทีเดียว (ฮา) ให้สังเกตไม้สีแดงที่เขาปักไว้ดีๆ มันจะบอกว่านั่นคือขอบเขตของถนน อย่าเลยออกไปเชียว
- ส่วนใหญ่เกือบตลอดเส้นจะจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงครับ บางช่วง 50 หรือ 70 จะมีป้ายบอกตลอด
- การขับบนหิมะ ไม่อยากอย่างที่กลัว เขาเกลี่ยถนนค่อนข้างดี ไม่ลื่น จองรถฤดูหนาวล้อของรถเขาจะเป็น winter tyres อยู่แล้ว ถ้าไม่แน่ใจให้ confirm กับเขาตอนรับรถด้วยครับ
- ถ้าถนนลื่นเพราะหิมะ ห้ามเหยียบเบรคแรง รถจะหมุน ให้ตั้งสติ เหยียบปล่อย เหยียบปล่อย เพื่อประคองรถ
- ถ้าช่วงไหนของถนนมีกองหิมะ อย่าขับไปบนกองหิมะครับ รถจะเป๋ควบคุมไม่ได้ หรือไม่ก็ติดหล่มขึ้นไม่ได้
- วิวสวยมากตลอดทาง แต่หาจุดแวะจอดถ่ายรูปดีๆ นะครับ ถ้าไม่มีไหล่ทางไม่ควรจอดเพราะถนนแคบ รถที่วิ่งบนถนนคันอื่นจะลำบากและอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ข้อควรระวัง! ตามจุดถ่ายรูปต่างๆ ถ้าที่จอดอยู่ข้างๆ บ้านคน ส่วนใหญ่จะเป็น private parking ของเขา พยายามหลีกเลี่ยงครับ เผลอไปจอดมาแล้วเพราะไม่รู้ ดันประจวบเหมาะกับเจ้าของบ้านกลับมาพอดี เขาเลยต้องจอดปิดเราเลยออกไม่ได้ ต้องเดือดร้อนเขามาถอยรถออกให้เรา แต่คนที่นี่เขามารยาทดีมากครับ ต่อว่าแบบสุภาพ ใช้คำพูดดี ไม่ชักสีหน้า (ผิดกับที่พบเจอบ่อยๆ ในข่าวบ้านเรา)
- ระวังตอนจะขับผ่านสะพานนิดนึงครับ บางสะพานมันแคบมาก เขาจะให้วิ่งเลนเดียว ซึ่งจะมีไฟแดงอยู่ที่ต้นสะพาน สังเกตดีๆ ครับ ให้ไฟเขียวก่อนค่อยไป ไม่งั้นเดี๋ยวจะไปจูบกันบนสะพาน
- ปั๊มน้ำมันจะมีตามเมืองหลักๆ เช่น Leknes, Reine เติมที่เมืองใหญ่จะถูกกว่าเล็กน้อย และควรเลือกปั๊มที่มีซุปเปอร์มาร์เกตด้วย จะได้จ่ายเงินสดได้ (เติมก่อนแล้วจำเลขที่ตู้จ่ายไว้ แล้วเดินไปจ่ายที่เคาน์เตอร์ในซุปเปอร์) เพราะถ้าจ่ายบัตรเครดิตมักมีปัญหาต้องกด pin
พักที่ไหนดี
- พักที่เดียวเลย
-
- เนื่องจากเกาะไม่ใหญ่ วิ่งจากเหนือลงใต้ถ้านับเริ่มจาก Leknes ก็ไม่ถึง 70 กิโลเมตร ดังนั้นหลายคนอาจตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เดียว แล้วขับรถเที่ยวไปมาเอา
- ข้อดีคือ ไม่ต้องเก็บของย้ายที่พักบ่อย
- ข้อเสียคือ ถ้าออกเที่ยวไปไกลหน่อย อาจต้องขับย้อนไปมากลับที่พัก
- เปลี่ยนที่พักไปเรื่อยๆ
- เพราะผมเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในการขับรถ ยิ่งถ้าต้องออกหาแสงเหนือกลางคืน บนถนนหิมะลื่นๆ แคบๆ ยิ่งกลัว เลยขอย้ายที่พักบ้างดีกว่า จะได้เห็นวิวหลายๆ ที่ ออกตระเวนกลางคืนใกล้ๆ ที่พักจะได้ไม่ต้องขับไกล
- ข้อเสีย คือ ต้องเก็บของย้ายของบ่อย และตอนจองเราก็ไม่รู้ใช่ไหมครับว่าคืนไหนมันจะมีแสงเหนือตรงไหน ดังนั้นเวลาเลือกที่พักก็เลือกแถวๆ ที่เขานิยมดูแสงเหนือกัน คืนไหนมีก็จะได้วิวสวยๆ ใกล้ๆ บ้านได้เลย แต่เกาะมันเล็กครับ ถ้าจุดนึงเห็นส่วนใหญ่จุดอื่นๆ ก็มักจะเห็นไปด้วย ไม่ได้ใหญ่แบบไอซ์แลนด์ที่อาจต้องขับล่ากันเกือบร้อยกิโล
- พักที่ไหน
-
- มีให้เลือกเยอะครับ ที่พักที่เกาะนี้ส่วนใหญ่เป็นแบบ กระท่อมชาวประมง (Rorbuer) ที่ดัดแปลงมาเป็นที่พัก จะเป็นเหมือน apartment มีห้องนอน มีครัวพร้อมอุปกรณ์ครัว และวิวงามๆ
- ส่วนใหญ่ไม่มี reception มารอเรา check in นะครับ ดังนั้น ใกล้ถึงวันเข้าพัก ให้อีเมลไป confirm กับเขาเสมอ เกี่ยวกับ วันเวลาที่เข้าพัก ที่จอดรถ วิธีการรับกุญแจหรือขอ code เพื่อกดรหัสเข้าบ้าน
- ที่พักที่ผมพัก ไม่แพง ห้องดีและวิวสุดยอดทุกที่ คือ Tobiasbrygga (Henningsvaer), Eliassen Rorbuer (Hamnoy) และ Lofoten Basecamp (Leknes) แนะนำอย่างยิ่งครับ (แต่ที่อื่นก็น่าจะดีครับ แต่ไม่เคยพัก)
- ถ้าต้องเลือกพักที่เดียว ผมแนะนำแถว Hamnoy (Eliasson Rorbuer), Skrisoya หรือ Reine ครับ
- เรื่องปากท้อง
-
- ฤดูหนาว ร้านส่วนใหญ่จะปิด แต่ก็มีซุปเปอร์มาร์เกตตามเมืองหลักๆ เปิดอยู่ครับ เช่นที่ Leknes และ Reine (ลอง search หาชื่อ Coop, Joker, Rema 1000) ขนอาหารสำเร็จรูปและเครื่องปรุงบางอย่างมาจากเมืองไทย แล้วมาซื้อของสดเพิ่ม พวกเนื้อวัว ไส้กรอก ปลาแซลมอน ไข่ มาทำอะไรง่ายๆ กินก็รอดตายละครับ (ประหยัดด้วย)
- ซุปเปอร์มาร์เกต ส่วนใหญ่ปิดวันอาทิตย์!!! (ตุนของกันไว้ให้ดี)
- ร้านอาหารจะหายากหน่อย (ส่วนใหญ่ขึ้นป้ายว่า…เจอกันเดือนเมษาจ้า คือฤดูหนาวปิดร้านยาว) แล้วก็แพงมาด้วย
- พวกขนมที่จะซื้อกลับมาเป็นของฝาก แนะนำมาซื้อในสนามบิน Oslo ครับ ถูกกว่าในซุปเปอร์มาร์เกตมาก (ถึงมากที่สุด)
- น้ำเปล่า สามารถดื่มน้ำก๊อกได้ (เปิดฝั่งน้ำเย็น)
รู้จัก Lofoten กันซักนิด
Lofoten เป็นหมู่เกาะประกอบด้วยเกาะทั้งหมด 7 เกาะ แต่ที่เป็นที่เที่ยวหลักๆ มี 3 เกาะ สามารถเดินทางถึงกันได้ด้วยถนนเส้นเดียวคือ ถนนสาย E10 สามเกาะที่ว่านั้นก็คือ
- Vestvågoy
- Flakstadoya
- Moskenesoya
ส่วนอีก 2 เมืองที่คนนิยมแวะไป คือ Henningsvaer และ Svolvaer จะอยู่บนเกาะ Austvågoya
แผนการเดินทาง
- ทริปนี้นอกจาก Lofoten แล้ว ยังได้เลยไปเที่ยวต่อที่ Tromso, Bergen และ Flam ด้วยครับ รวมเวลาทั้งสิ้น 10 วัน (รวมวันเดินทางหัวท้าย)
- เริ่มจาก Oslo และขึ้นเครื่องต่อไปยัง Leknes (เดินทางวันจันทร์เลยได้ direct flight ของ Wideroe)
- เช่ารถที่สนามบิน Leknes เพื่อขับเที่ยวในเกาะ Lofoten 4 วัน หลังจากคืนรถก็ขึ้นเครื่องไปเที่ยวต่อที่ Tromso, Bergen และ Flam แล้วค่อยกลับ Oslo ครับ
- รายละเอียดที่เที่ยว ราคาคร่าวๆ และที่พักตามตารางด้านล่างครับ ไม่เน้นถูกแบบร้องโอ้โห แต่เน้นสบายและราคาเหมาะสมครับ (ดาวน์โหลด คลิ๊ก!)
กระทู้แนะนำอ่านเพิ่มเติม
ก่อนไปผมทำการบ้านและวางแผนจากกระทู้ด้านล่างและจาก pantip อีกหลายกระทู้ครับ ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ
ตามไปที่ลิงค์ด้านล่างเลยครับ 🙂
- USCAPER
- Piriya Photography
- นายมด (9MOT)
- Pantip review: สมาชิกหมายเลข 3492814, USCAPER
อุ่นเครื่องกันกับเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ก่อนครับ บทความหน้าจะพาไปตะลุย Lofoten ของจริงกัน จะได้พิสูจน์ที่คนชอบพูดว่า “โลโฟเทน สวรรค์บนดิน” นั้นมันเป็นยังไง
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับรีวิวการท่องเที่ยวใน lofoten อ่านแล้วสนุกมากค่ะ เรียนถามเพิ่มเติมเนื่องจากกำลังจะไปเที่ยวกับเพื่อน 4 คน ช่วงเดือนตุลาคมนี้ค่ะ เกี่ยวกับที่พักที่ lofoten leknes นั้น ราคาที่พักต่อคนใช่หรือไม่ค่ะ เช่น ที่ Basecamp 1 apartment = 2,970 บาท คือราคาต่อกี่คนคะ
รบกวนขอเป็นข้อมูลในการจองด้วยค่ะ
ขอบคุณมากๆค่ะ
ราคา 2,970 NOK ต่อห้องต่อคืนครับ (ถ้าคิดเป็นบาท ก็ประมาณ 11,000 บาท ต่อห้องต่อคืน)
ขอความคิดเห็นหน่อยคะ กำลังจะไป lofoten สิ้นกันยานี้ แต่กำลังหาสายการบินจาก Oslo แบบไม่แพงมาก แนะนำสายการบินไหน และลงที่ไหนดีคะ คือแพลนจะไปทางเหนือ ประมาณ 4 คืน โดยจะบินไปและเช่ารถขับและบินกลับ Oslo ถ้ามีแบบไม่ต่อเครื่องจะดีมากคะ ขอบคุณล่วงหน้าคะ
ไปลง Lofoten มีสายการบินเดียว คือ Wideroe ครับ ราคาถ้าจองใกล้จะแพงหน่อย มีสนามบินใกล้ๆ ให้เลือกลงได้ 2 เมืองครับ คือ Hennignsvaer และ Leknes จะลงเมืองไหนก็ได้ครับเพราะระยะทางไม่ไกลกัน แต่ถ้าให้แนะนำผมว่าลง Leknes จะใกล้ที่เที่ยวทางใต้มากกว่า ใช้เป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางค่อนข้างสะดวกครับ
สวัสดีครับ รบกวนสอบถามครับพอดีจะบินการบินไทย 23OCT2019 bkk – Osl ถึงเช้า 07.25 น. ผมจะนั่งเครื่องภายในประเทศ Osl-Lkn รอบ 10.45 น.- 13.05 น. ทันไหมครับ ไม่อยากไปถึงช่วงเย็นครับ จะเดินทาง ปลาย ตค นี้ครับ ผมได้ราคาตั๋วค่อนข้างแพงไปไหมครับ ไปกลับ 486 EUR ขอบคุณครับ
ทันครับ ของผมถึง OSL 6.50 น. ต่อ flight ไป LKN 10.55 เข้า ตม.+รอกระเป๋า แล้วเวลาเหลือเกือบๆ 2 ชม. แต่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนและ ตม.ที่เปิดด้วยครับ แต่ผมว่าไม่น่ามีปัญหา ส่วนราคาตั๋วนี่คือเฉพาะ OSL-LKN ไปกลับหรือเปล่าครับ ถ้าใช่ก็ราคาปกติครับ (ปกติมันจะประมาณ 380-500)
รายละเอียดการเที่ยวดีมากครับ ชอบเลยอยากเที่ยวตามรอยบ้าง แฟนอยากดูแสงเหนือ
กะไปช่วง 17-26 มีนาคม 2563
อยากขอคำแนะนำหน่อยว่า ที่ lofoten และ Tromso ควรพักเที่ยวที่ละกี่คืนครับ
ที่ Lofoten ผมว่าประมาณ 3 คืน (แล้วแต่ว่าวันแรกจะไปถึงเย็นไหม แต่กะให้มีเวลาเที่ยวประมาณ 3 วันเต็มๆ) กำลังดีครับ ส่วนที่ Tromso ผมพักแค่คืนเดียวว่าน้อยไปหน่อย แนะนำ 2 คืนครับ (ให้มีเวลาเที่ยว 1-2 วันเต็มๆ) จะได้เดินเล่นในเมืองสบายๆ ด้วย