Go! Lofoten (Ep.1 เตรียมตัวตามหาแสงเหนือ)

ช่วยไลค์ช่วยแชร์ครับ

พูดถึงแสงเหนือผมก็จะคิดถึงไอซ์แลนด์ขึ้นมาเป็นอันดับแรก แต่หลังๆ เห็นคนไป “Lofoten” กันเยอะขึ้น ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเกาะแก่ง ภูเขาละลานตา และเขาว่าโอกาสเห็นแสงเหนือก็เยอะด้วย เลยตัดสินใจไปกันเลยโดยไม่ต้องลังเล

บทความเกี่ยวข้องอื่นๆ ตามที่ลิงค์ด้านล่างเลยครับ

  • Ep. 1 ทิปการตามหาแสงเหนือ >>> You are here!
  • Ep. 2 เกาะในฝัน สวรรค์บนดิน >>> Click!
  • Ep. 3 มานอร์เวย์ไม่ไปออสโลแล้วจะไปไหนดี >>> Click!

ทิปการตามหาแสงเหนือ

ขอไม่ใช้คำว่า “ล่า” แสงเหนือ เพราะผมก็ไม่ได้ล่าแบบจริงๆ จังๆ ออกจะงงๆ ซะด้วย เพราะเป็นออกมาดูแสงเหนือครั้งแรก ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ทุลักทุเลพอสมควร

  • วันแรก – เอาแต่ดูพยากรณ์ใน app Kp index น้อย เมฆเยอะ ออกไปด้อมๆ มองๆ ใกล้ๆ บ้านแป๊บนึง ก็นอน…(ฮา)
  • วันที่ 2 – Kp น้อย (1) มีเมฆ ไม่ออกละ ก็นอน (ฮาอีก)
  • วันที่ 3 – Kp น้อย (1-2) มีเมฆ แต่ไม่ฮาละ กลัวไม่เห็น ปลุกกันตอนตี 2 ออกไปที่ชายหาด…รอเก้อ
  • วันที่ 4 – Kp เยอะขึ้น (2-4) มีเมฆ ฮาไม่ออก เร่ิมกระสับกระส่าย เดี๋ยวจะจบทริปแบบกลับไปตาเปล่า วางแผนจะออกกันหลังเที่ยงคืน…โชคดีที่เจ้าของที่พักเดินมาทักทาย (เทวดามาโปรด) เขาเลยบอกว่า ออกไปเลยตอนสองทุ่ม เที่ยงคืนมันดึกไป! ให้ไปตรงนั้น หันหน้าตรงนี้…สรุป mission complete (เฮ!!!) ทำให้รู้ว่า ที่เดาเอาเองนั้น…“ผิดเกือบหมด”

งั้นลองมาดูเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการหาแสงเหนือกันดีกว่า

  • สถานท่ี
    1. ควรหาสถานที่มืดๆ ที่ไม่มีแสงไฟรบกวน แต่ถ้า Kp สูงๆ ที่สว่างก็ยังเห็นได้เหมือนกัน
    2. ถ้าจะให้รูปสวย ควรมี foreground, background ที่น่าสนใจ เช่น ภูเขา ชายหาด หรือบ้าน แต่ถ้า foreground เป็นเมืองหรือบ้าน เวลาตั้ง speed shutter นานๆ แล้วไม่ได้ใช้ ND filter ส่วนเมืองที่มีแสงไฟมันอาจจะสว้างจ้าเกินไป จนทำให้รูปไม่สวย
    3. ดังนั้นควรต้องมีการวางแผนก่อนว่าจะถ่ายที่ไหน ง่ายๆ คือ ตอนกลางวันควรไปสำรวจสถานที่จริงก่อน จะได้คิดไว้คร่าวๆ ว่าจะหันไปทางไหน ตั้งกล้องตรงไหน เพราะถ้าดุ่ยๆ ไปกลางคืนเลย การจะมาหา location ในสภาพอากาศหนาวเหน็บและมืดสนิทเนี่ย มันไม่ง่ายเลย บางครั้งคนถ่ายตรงนั้นก็เยอะ ไปยืนเก้ๆ กังๆ ฉายไฟฉายไปมา จะโดนเขาด่าอีกเพราะไปบังกล้องเขา 
  • เวลา
    1. ฤดูหนาวจะมีโอกาสเห็นมาก ถ้าเป็นที่ Lofoten ช่วงปลายกันยายน-ปลายมีนาคม จะมีโอกาสเห็นมากตามรูปด้านล่าง แต่เวลาที่เหมาะจริงๆ น่าจะเป็นช่วง กันยายน-ตุลาคม กับ กุมภาพันธ์-มีนาคม ครับ เพราะมีกลางวันพอๆ กับกลางคืน ไม่ใช่มืดมันทั้งวันจะพาลเอาไม่ได้เที่ยวอย่างอื่นกันพอดี และอากาศก็ไม่หนาวเหน็บทรมานเกินไปนัก
    2. อย่าคิดว่าต้องออกตามหาหลังเที่ยงคืนเสมอไป ดู Kp, สภาพอากาศ ประกอบกัน
ช่วงที่เห็นแสงเหนือที่ Lofoten
  • พยากรณ์นั้นสำคัญไฉน
    1. พยากรณ์ก็คือพยากรณ์ ไม่ได้แม่นเสมอไป ทั้งพยากรณ์อากาศและพยากรณ์แสงเหนือ แต่ก็ยังสำคัญนะครับ เพราะทำให้เราวางแผนคร่าวๆ ได้
    2. อากาศที่ Lofoten นี่ค่อนข้างแปรปรวน บางทีบอก cloudy แต่กลับ sunny เฉยเลย บางทีแดดออกดีๆ อยู่ๆ หิมะก็ตกอะไรประมาณนี้ ส่วนใหญ่ต้องดูพยากรณ์อากาศกันวันต่อวัน หรืออย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงล่วงหน้า
    3. การเห็นแสงเหนือขึ้นกับ หลายปัจจัย ทั้ง Kp, สภาพฟ้าเปิด, เวลาและสถานที่เหมาะสม ลองดูรูปด้านล่างกัน อันนี้ประสบการณ์จากทริปนี้เลย

>>> หาก Kp ต่ำ แต่ถ้าฟ้าเปิด ไปสถานที่เหมาะสม ก็เห็นได้ แต่ต้องลองเอากล้องถ่ายทดสอบดู เพราะอาจไม่เห็นด้วยตาเปล่า

>>> แต่ถ้า Kp สูง แต่เมฆเต็มฟ้า ก็อาจยากที่จะได้เห็นครับ (ฮืออออ)

 

  • Kp index ต้องสูงขนาดไหนถึงเห็น
    1. ตรงไปตรงมา คือยิ่งสูงยิ่งเห็น (มีค่าตั้งแต่ 0-9)
    2. แต่ถ้าเอาให้จำเพาะเจาะจงขึ้น ก็คือ ขึ้นอยู่กับประเทศครับ ยิ่งอยู่ทางเหนือยิ่งเห็นง่าย อธิบายตามรูปล่าง เช่น เราไป Lofoten ซึ่งอยู่ตอนเหนือของนอร์เวย์ Kp 2-3 ก็เห็นได้แล้ว ถ้าเหนือขึ้นไปอีกนิดอย่าง Tromso แค่ Kp 1 ก็เห็นแล้ว

 

  • มองตาเปล่าจะเห็นเหมือนในรูปไหม
    1. ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นแค่แถบสีขาวๆ จางๆ บนท้องฟ้าไม่ได้เป็นสีเขียวแบบในรูปถ่าย หลายครั้งจะงงๆ ว่ามันเมฆหรือแสงเหนือ
    2. ถ้าเยอะหน่อยจะเห็นเป็นแถบขาวๆ วิ่งไปมา (คล้ายๆ แสงเหนือเต้นระบำ) ถึงจะไม่เขียวแต่มันก็สวยประทับใจและน่าอัศจรรย์มากครับ (ดังนั้นถ้าเห็นครั้งแรกอย่าเอาแต่ถ่ายรูป มองและดื่มด่ำด้วยตาเปล่าด้วยจะจำไม่ลืม แต่อย่าเพลินจนแสงหมดแล้วยังไม่ได้ถ่าย (ฮา))
    3. ถ้ามองไม่เห็นจริงๆ ลองใช้กล้องถ่ายท้องฟ้าทดสอบดู (อาจตั้งกล้องให้รูรับแสงกว้าง (ค่า f เลขน้อยที่สุดของเลนส์), speed shutter นานหน่อย (เอาซัก 5 วินาทีก่อน), ISO ซัก 3200 หรือมากกว่า) ถ้าเริ่มเห็นค่อยตั้งกล้องเพื่อถ่ายจริงใหม่และปรับตามสภาพแสงที่ได้
    4. ถ้า Kp สูงๆ เขาว่ามองตาเปล่าอาจจะออกเป็นสีเขียวได้ (อันนี้ไม่เคยเห็นเหมือนกันครับ)  
แสงเหนือในภาพถ่ายเทียบกับมองด้วยตาเปล่า
  • ถามคนพื้นที่ ถ้ามีโอกาสควรถามครับ เขาอาจจะบอกเราได้ว่าวิวไหนดี ต้องหันหน้าทางไหน ออกเวลากี่โมง และวันนี้จะมีไหม
  • เตรียมเครื่องแต่งกายให้พร้อม เพราะมันหนาวมาก ถ้ามือแข็ง เท้าเย็น จะพาลให้ถ่ายไม่ไหวซะงั้น อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัว พอมันหนาวมากๆ ก็ถ่ายต่อไม่ไหว จะนั่งรอในรถให้มืออุ่นค่อยออกไปถ่ายต่อแสงก็หมด อีกทั้งยังเกรงใจเพื่อนๆ ที่ไปด้วยกันอีก ต้องมารอเราคนเดียว
  • ซื้อทัวร์แสงเหนือดีไหม อันนี้สะดวกสุดๆ ยิ่งถ้าเป็น local tour จะยิ่งดี (มีให้เลือกเยอะแถว Tromso แต่ยังไม่เคยเห็น local tour ที่ Lofoten ครับ เห็นแต่ทัวร์จากไทยเราเอง) เขาจะรู้ทำเล ทิศทาง ถ้าตรงนี้ไม่เห็นจะพาไปตรงไหน และส่วนใหญ่มีการเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้พร้อม มีเครื่องดื่มอุ่นๆ ให้ระหว่างรอ แต่ราคาก็แพงแสนแพง แต่!!! อย่าลืมนะครับว่าเขาก็เนรมิตแสงเหนือไม่ได้ ถ้าซวยจริงๆ ไม่เห็นแสงเหนือ เขาไม่คืนเงินนะคร้าบบบ
  • ตั้งกล้องยังไงดี มีหลายสูตรเลยครับ แต่ละคนแนะนำตัวเลขที่แตกต่างกันจนบางครั้งเราก็งงว่าจะตามใครดี แต่ไม่ต้องกังวล หลักง่ายๆ คือ ตั้งกล้องให้แสงเข้ากล้องมากๆ เพราะข้างนอกมันมืด หลักการมีดังนี้ครับ
    1. อย่าลืมขาตั้งกล้อง, ถ้ามีรีโมทหรือสายลั่นชัตเตอร์ยิ่งดี
    2. ตั้ง manual mode
    3. ตั้ง manual focus (MF) เพราะในสภาพท้องฟ้าที่มืดมาก การใช้ autofocus (AF) กล้องมันจะหาจุดโฟกัสไม่เจอวืดไปวืดมาและกดชัตเตอร์ไม่ได้ แต่ก่อนท่ีจะตั้งเป็น MF ให้ใช้ AF หาจุดโฟกัสของ foreground ที่สว่างก่อน เช่น ที่ภูเขา บ้าน หรือตำแหน่งที่จะมีคนไปยืน แล้วค่อยเปลี่ยนเป็น MF จะทำให้ foreground เราชัดสวยไม่เบลอ (ถ้าฉากอยู่ไกลก็ไม่เป็นไร ตั้ง MF ให้อยู่ในระยะ infinity เลย)
    4. ปิดกันสั่นที่เลนส์หรือกล้อง
    5. รูรับแสงกว้างๆ (ค่า f ตัวเลขน้อยๆ เช่น 1.4, 2.8)
    6. Shutter speed นานหน่อย (เช่น 5-10 วินาที) ไม่ควรตั้งนานเกินไปเพราะจะทำให้แสงเป็นปื้นๆ ไม่เป็นริ้วเป็นเส้นสวยๆ
    7. ISO สูงหน่อย (เช่นเริ่มที่ 1200-3200) ไม่ควรตั้งสูงเกินไปเพราะจะทำให้รูปมี noise เยอะมากไม่สวย แต่ถ้า ISO ตำ่เกินไปรูปจะมืดและเราต้องดัน shutter speed นานขึ้นทำให้แสงเป็นปื้นไม่สวยเช่นกัน
    8. ถ่ายแต่ละรูปต้องดูทุกครั้งว่าได้แสงเป็นยังไง ฉากเป๊ะไหม และดูรูปที่ได้หลังถ่ายทุกครั้ง ปรับกล้องตามสภาพแสงและรูปที่ได้ ผมถึงบอกว่ามันไม่มีสูตรตายตัว จำไว้แค่หลักคร่าวๆ พอ ค่าที่ได้รูปสวยที่สุด ณ เวลานั้นอาจไม่ใช่ค่าที่บอกไปข้างต้นก็ได้
    9. เตรียมเครื่องแต่งกายให้พร้อม ทำร่างกายให้อุ่นๆ ข้อนี้สำคัญครับ ที่เห็นเขียนทฤษฎีด้านบน ก็ใช่ว่าผมจะถ่ายสวยนะครับ ของจริงมันหนาวมาก ตั้งผิดตั้งถูก มองฉากก็ไม่เห็น มือก็เจ็บถอดถุงมือมาปรับแต่ละทีนี่ทรมาน (คือไม่ได้สำรวจพื้นที่มาก่อน เจ้าของบ้านบอกให้ไปถ่ายตรงไหน ก็ไป ทั้งที่ไม่เคยไปมาก่อน เลยไม่รู้อะไรอยู่ตรงไหน ฉากเอียงไปเอียงมา) รูปตัวเองเลยออกมาได้ไม่ถูกใจเท่าไร
    10. อีกอย่างที่สำคัญคือ มารยาทในการถ่ายรูป ครับ เห็นใจคนที่มาถ่ายรูปเหมือนกันด้วยครับเพราะทุกคนก็อยากได้รูปสวยๆ เหมือนกัน เช่น อย่าตั้งกล้องขวางเขา (คุยกันดีๆ) บางคนพกมาตั้ง 3 ตัว วางแผ่เต็มหน้างาน คนอื่นเข้าไปตั้งถ่ายไม่ได้เลย พอเดินไปใกล้นิดหน่อยก็โดนว่า, อย่าเดินไปเดินมาบังกล้องเขา, อย่าสาดไฟฉายไปมา และอย่าตะโกนคุยกันเสียงดัง

อย่างรูปบนนี้ของเพื่อนที่ไป เจอฝรั่งตั้งกล้อง 3 ตัวรวด จะขยับไปตั้งใกล้ๆ ก็โดนว่าหลายรอบห้ามเข้ามา ถ่ายหลบยังไงก็ติดกล้องเขาอยู่ดี และแสงไฟจากกล้องฝรั่งท่านนั้นก็แดงสว่างรบกวนรูปคนอื่นตลอดเวลา ถ้าที่แคบมีหลายคนไปถ่ายก็คิดถึงใจเขาใจเราบ้างครับ

  • App หรือ website แนะนำ

    1. Website: Norway-lights.com
    2. App: Aurora Alerts และ My Aurora Forecast

ข้อควรรู้สั้นๆ กับการเดินทางไป Lofoten

วีซ่าและสกุลเงิน

  • ใช้เชงเก้นวีซ่า วิธีและขั้นตอนเหมือนกับวีซ่าเชงเก้นจากประเทศอื่นๆ ครับ หาอ่านได้ทั่วไป
  • สกุลเงิน norwegian krone (NOK) แลกไปได้จากไทยครับที่ superrich อัตราไม่แตกต่างกับแลกยูโรแล้วเอายูโรไปแลกที่นู่นเท่าไร
  • การใช้บัตรเครดิตกับเครื่องอัตโนมัติ (เช่น ซื้อตั๋วรถ, จอดรถ, ปั๊มน้ำนมัน) ส่วนใหญ่ต้องกด pin ดังนั้นต้องหาแผนสำรองหากใช้ไม่ผ่าน เพราะเราไม่ค่อยจะมี pin ใช้กัน เช่น เตรียมเงินสดสำรองไว้, เข้าปั๊มที่มีซุปเปอร์มาร์เกตจ่ายค่าน้ำมันเป็นเงินสด เป็นต้น

เที่ยวเดือนไหน

  • ชอบเขียวสดใส อากาศสบาย ต้องฤดูร้อนครับ (มิถุนายน-สิงหาคม) ถือว่าเป็น high season ของที่นี่เลย มีกิจกรรมมากมาย เช่น ล่องเรือ เล่นเซิร์ฟ ปีนเขา เดิน trekking 
  • ชอบหิมะ หรือตามล่าแสงเหนือ แนะนำเดือนตุลาคมและมีนาคมครับ (ช่วงตุลาคมอาจยังไม่ค่อยมีหิมะ) เพราะเวลากลางคืนจะพอๆ กับกลางวัน เที่ยวกลางวันก็ได้และดูแสงเหนือก็ดี อีกทั้งไม่ได้หนาวเย็นจนทรมานมากนัก ถ้ามาช่วงธันวาคม-มกราคม จะหนาวมากและมีช่วงสว่างน้อย

เดินทางไปเกาะ 

  • เครื่องบิน ผมแนะนำฐานที่มั่นของสนามบินอยู่ 2 เมืองหลักๆ คือ Leknes และ Svolvaer ผมเลือก Leknes เพราะอยู่ใกล้ที่เที่ยวหลักๆ มากกว่า (ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่เกาะทางใต้) โดยเริ่มต้นที่เมืองหลวงอย่าง Oslo เครื่องบินที่ลงที่เกาะจะเป็นของ Wideroe (กดลิงค์) ซึ่งเที่ยวบินส่วนใหญ่จะต้องต่อเครื่อง 1 ครั้งที่เมือง Bodo แต่ก็มีบินตรงเหมือนกันนะครับแต่จะบินเฉพาะวันจันทร์และศุกร์เท่านั้น (แพงกว่านิดนึง) 
  • ขับรถ บางคนเลือกทางนี้ อาจขับมาจาก Tromso ก็ได้ แต่ใช้เวลานาน (มาก) ประมาณ 7 ชั่วโมงได้ เลยตัดตัวเลือกนี้ไปโดยไม่ต้องคิด
  • เรือเฟอร์รี่ โดยขึ้นมาจากเมือง Bodo ลองดูข้อมูลจาก ลิงค์ นี้ได้ครับ
เครื่องบินใบพัดไปเกาะ Lofoten

วิธีเที่ยวในเกาะ

  • รถบัสสาธารณะ ไม่แนะนำครับ เพราะรอบนานมาก และการเที่ยวจะไม่ได้ทุกที่และไม่ยืดหยุ่น
  • ขับรถ (พวงมาลัยซ้าย)
    1. เป็นวิธีที่ดีที่สุด และแนะนำครับ
    2. ถ้าเช่าล่วงหน้านานๆ (ผมจองก่อนห้าเดือน) ราคาจะถูกกว่าจองใกล้ๆ เกือบเท่าตัว
    3. ที่นี่ขึ้นชื่อว่าถนนแคบ แต่ก็สวนกันได้สองคันนะครับ ถ้าสวนรถใหญ่ก็ช้าๆ นิดนึง อย่าตื่นตกใจหักลงข้างทาง เพราะที่เห็นหิมะคลุมระดับเดียวกับถนนนี่อาจเป็นไหล่ทางที่ลึกลงไปก็ได้ครับ ตกลงไปแล้วขึ้นไม่ได้แน่ๆ ตอนไปนี่ก็มีรถตกถนนให้เห็นอยู่ประปราย รูปล่างเป็นรูปของรุ่นน้องที่เขาไปมาก่อนและรถตกไหล่ทาง ถึงกับเป็นข่าวท้องถิ่นเลยทีเดียว (ฮา) ให้สังเกตไม้สีแดงที่เขาปักไว้ดีๆ มันจะบอกว่านั่นคือขอบเขตของถนน อย่าเลยออกไปเชียว
    4. ส่วนใหญ่เกือบตลอดเส้นจะจำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงครับ บางช่วง 50 หรือ 70 จะมีป้ายบอกตลอด
    5. การขับบนหิมะ ไม่อยากอย่างที่กลัว เขาเกลี่ยถนนค่อนข้างดี ไม่ลื่น จองรถฤดูหนาวล้อของรถเขาจะเป็น winter tyres อยู่แล้ว ถ้าไม่แน่ใจให้ confirm กับเขาตอนรับรถด้วยครับ
    6. ถ้าถนนลื่นเพราะหิมะ ห้ามเหยียบเบรคแรง รถจะหมุน ให้ตั้งสติ เหยียบปล่อย เหยียบปล่อย เพื่อประคองรถ
    7. ถ้าช่วงไหนของถนนมีกองหิมะ อย่าขับไปบนกองหิมะครับ รถจะเป๋ควบคุมไม่ได้ หรือไม่ก็ติดหล่มขึ้นไม่ได้
    8. วิวสวยมากตลอดทาง แต่หาจุดแวะจอดถ่ายรูปดีๆ นะครับ ถ้าไม่มีไหล่ทางไม่ควรจอดเพราะถนนแคบ รถที่วิ่งบนถนนคันอื่นจะลำบากและอาจเกิดอุบัติเหตุได้ ข้อควรระวัง! ตามจุดถ่ายรูปต่างๆ ถ้าที่จอดอยู่ข้างๆ บ้านคน ส่วนใหญ่จะเป็น private parking ของเขา พยายามหลีกเลี่ยงครับ เผลอไปจอดมาแล้วเพราะไม่รู้ ดันประจวบเหมาะกับเจ้าของบ้านกลับมาพอดี เขาเลยต้องจอดปิดเราเลยออกไม่ได้ ต้องเดือดร้อนเขามาถอยรถออกให้เรา แต่คนที่นี่เขามารยาทดีมากครับ ต่อว่าแบบสุภาพ ใช้คำพูดดี ไม่ชักสีหน้า (ผิดกับที่พบเจอบ่อยๆ ในข่าวบ้านเรา) 
    9. ระวังตอนจะขับผ่านสะพานนิดนึงครับ บางสะพานมันแคบมาก เขาจะให้วิ่งเลนเดียว ซึ่งจะมีไฟแดงอยู่ที่ต้นสะพาน สังเกตดีๆ ครับ ให้ไฟเขียวก่อนค่อยไป ไม่งั้นเดี๋ยวจะไปจูบกันบนสะพาน
    10. ปั๊มน้ำมันจะมีตามเมืองหลักๆ เช่น Leknes, Reine เติมที่เมืองใหญ่จะถูกกว่าเล็กน้อย และควรเลือกปั๊มที่มีซุปเปอร์มาร์เกตด้วย จะได้จ่ายเงินสดได้ (เติมก่อนแล้วจำเลขที่ตู้จ่ายไว้ แล้วเดินไปจ่ายที่เคาน์เตอร์ในซุปเปอร์) เพราะถ้าจ่ายบัตรเครดิตมักมีปัญหาต้องกด pin

 

รถตกไหล่ทาง ถึงกับเป็นข่าวท้องถิ่นเลย (ขออนุญาตคนในรูปแล้ว)
อย่าขับเลยออกไปจากไม้สีส้มที่ปักไว้
ถนนแคบบางช่วง แต่ไม่ยากอย่างที่กลัว **อย่ามองวิวเพลิน
 

พักที่ไหนดี

  • พักที่เดียวเลย
    1. เนื่องจากเกาะไม่ใหญ่ วิ่งจากเหนือลงใต้ถ้านับเริ่มจาก Leknes ก็ไม่ถึง 70 กิโลเมตร ดังนั้นหลายคนอาจตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เดียว แล้วขับรถเที่ยวไปมาเอา
    2. ข้อดีคือ ไม่ต้องเก็บของย้ายที่พักบ่อย
    3. ข้อเสียคือ ถ้าออกเที่ยวไปไกลหน่อย อาจต้องขับย้อนไปมากลับที่พัก 
  • เปลี่ยนที่พักไปเรื่อยๆ
    1. เพราะผมเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในการขับรถ ยิ่งถ้าต้องออกหาแสงเหนือกลางคืน บนถนนหิมะลื่นๆ แคบๆ ยิ่งกลัว เลยขอย้ายที่พักบ้างดีกว่า จะได้เห็นวิวหลายๆ ที่ ออกตระเวนกลางคืนใกล้ๆ ที่พักจะได้ไม่ต้องขับไกล
    2. ข้อเสีย คือ ต้องเก็บของย้ายของบ่อย และตอนจองเราก็ไม่รู้ใช่ไหมครับว่าคืนไหนมันจะมีแสงเหนือตรงไหน ดังนั้นเวลาเลือกที่พักก็เลือกแถวๆ ที่เขานิยมดูแสงเหนือกัน คืนไหนมีก็จะได้วิวสวยๆ ใกล้ๆ บ้านได้เลย แต่เกาะมันเล็กครับ ถ้าจุดนึงเห็นส่วนใหญ่จุดอื่นๆ ก็มักจะเห็นไปด้วย ไม่ได้ใหญ่แบบไอซ์แลนด์ที่อาจต้องขับล่ากันเกือบร้อยกิโล
  • พักที่ไหน
    1. มีให้เลือกเยอะครับ ที่พักที่เกาะนี้ส่วนใหญ่เป็นแบบ กระท่อมชาวประมง (Rorbuer) ที่ดัดแปลงมาเป็นที่พัก จะเป็นเหมือน apartment มีห้องนอน มีครัวพร้อมอุปกรณ์ครัว และวิวงามๆ 
    2. ส่วนใหญ่ไม่มี reception มารอเรา check in นะครับ ดังนั้น ใกล้ถึงวันเข้าพัก ให้อีเมลไป confirm กับเขาเสมอ เกี่ยวกับ วันเวลาที่เข้าพัก ที่จอดรถ วิธีการรับกุญแจหรือขอ code เพื่อกดรหัสเข้าบ้าน 
    3. ที่พักที่ผมพัก ไม่แพง ห้องดีและวิวสุดยอดทุกที่ คือ Tobiasbrygga (Henningsvaer), Eliassen Rorbuer (Hamnoy) และ Lofoten Basecamp (Leknes) แนะนำอย่างยิ่งครับ (แต่ที่อื่นก็น่าจะดีครับ แต่ไม่เคยพัก)
    4. ถ้าต้องเลือกพักที่เดียว ผมแนะนำแถว Hamnoy (Eliasson Rorbuer), Skrisoya หรือ Reine ครับ
ที่พักสไตล์บ้านชาวประมงที่ Eliassen Rorbuer

 

  • เรื่องปากท้อง
    1. ฤดูหนาว ร้านส่วนใหญ่จะปิด แต่ก็มีซุปเปอร์มาร์เกตตามเมืองหลักๆ เปิดอยู่ครับ เช่นที่ Leknes และ Reine (ลอง search หาชื่อ Coop,  Joker, Rema 1000) ขนอาหารสำเร็จรูปและเครื่องปรุงบางอย่างมาจากเมืองไทย แล้วมาซื้อของสดเพิ่ม พวกเนื้อวัว ไส้กรอก ปลาแซลมอน ไข่ มาทำอะไรง่ายๆ กินก็รอดตายละครับ (ประหยัดด้วย)
    2. ซุปเปอร์มาร์เกต ส่วนใหญ่ปิดวันอาทิตย์!!! (ตุนของกันไว้ให้ดี)
    3. ร้านอาหารจะหายากหน่อย (ส่วนใหญ่ขึ้นป้ายว่า…เจอกันเดือนเมษาจ้า คือฤดูหนาวปิดร้านยาว) แล้วก็แพงมาด้วย 
    4. พวกขนมที่จะซื้อกลับมาเป็นของฝาก แนะนำมาซื้อในสนามบิน Oslo ครับ ถูกกว่าในซุปเปอร์มาร์เกตมาก (ถึงมากที่สุด)
    5. น้ำเปล่า สามารถดื่มน้ำก๊อกได้ (เปิดฝั่งน้ำเย็น)

 

รู้จัก Lofoten กันซักนิด

Lofoten เป็นหมู่เกาะประกอบด้วยเกาะทั้งหมด 7 เกาะ แต่ที่เป็นที่เที่ยวหลักๆ มี 3 เกาะ สามารถเดินทางถึงกันได้ด้วยถนนเส้นเดียวคือ ถนนสาย E10 สามเกาะที่ว่านั้นก็คือ

  1. Vestvågoy
  2. Flakstadoya
  3. Moskenesoya

ส่วนอีก 2 เมืองที่คนนิยมแวะไป คือ Henningsvaer และ Svolvaer จะอยู่บนเกาะ Austvågoya

ถนนสาย E10 มีสะพานเชื่อมเกาะต่างๆ

แผนการเดินทาง

  • ทริปนี้นอกจาก Lofoten แล้ว ยังได้เลยไปเที่ยวต่อที่ Tromso, Bergen และ Flam ด้วยครับ รวมเวลาทั้งสิ้น 10 วัน (รวมวันเดินทางหัวท้าย)
  • เริ่มจาก Oslo และขึ้นเครื่องต่อไปยัง Leknes (เดินทางวันจันทร์เลยได้ direct flight ของ Wideroe)
  • เช่ารถที่สนามบิน Leknes เพื่อขับเที่ยวในเกาะ Lofoten 4 วัน หลังจากคืนรถก็ขึ้นเครื่องไปเที่ยวต่อที่ Tromso, Bergen และ Flam แล้วค่อยกลับ Oslo ครับ
  • รายละเอียดที่เที่ยว ราคาคร่าวๆ และที่พักตามตารางด้านล่างครับ ไม่เน้นถูกแบบร้องโอ้โห แต่เน้นสบายและราคาเหมาะสมครับ (ดาวน์โหลด คลิ๊ก!)

กระทู้แนะนำอ่านเพิ่มเติม

ก่อนไปผมทำการบ้านและวางแผนจากกระทู้ด้านล่างและจาก pantip อีกหลายกระทู้ครับ ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ตามไปที่ลิงค์ด้านล่างเลยครับ 🙂

อุ่นเครื่องกันกับเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ก่อนครับ บทความหน้าจะพาไปตะลุย Lofoten ของจริงกัน จะได้พิสูจน์ที่คนชอบพูดว่า “โลโฟเทน สวรรค์บนดิน” นั้นมันเป็นยังไง

 

 

 

 

About Breathe My World 68 Articles
A man who love travelling the world.

8 Comments

  1. ขอบคุณมากค่ะ สำหรับรีวิวการท่องเที่ยวใน lofoten อ่านแล้วสนุกมากค่ะ เรียนถามเพิ่มเติมเนื่องจากกำลังจะไปเที่ยวกับเพื่อน 4 คน ช่วงเดือนตุลาคมนี้ค่ะ เกี่ยวกับที่พักที่ lofoten leknes นั้น ราคาที่พักต่อคนใช่หรือไม่ค่ะ เช่น ที่ Basecamp 1 apartment = 2,970 บาท คือราคาต่อกี่คนคะ

    รบกวนขอเป็นข้อมูลในการจองด้วยค่ะ
    ขอบคุณมากๆค่ะ

    • ราคา 2,970 NOK ต่อห้องต่อคืนครับ (ถ้าคิดเป็นบาท ก็ประมาณ 11,000 บาท ต่อห้องต่อคืน)

  2. ขอความคิดเห็นหน่อยคะ กำลังจะไป lofoten สิ้นกันยานี้ แต่กำลังหาสายการบินจาก Oslo แบบไม่แพงมาก แนะนำสายการบินไหน และลงที่ไหนดีคะ คือแพลนจะไปทางเหนือ ประมาณ 4 คืน โดยจะบินไปและเช่ารถขับและบินกลับ Oslo ถ้ามีแบบไม่ต่อเครื่องจะดีมากคะ ขอบคุณล่วงหน้าคะ

    • ไปลง Lofoten มีสายการบินเดียว คือ Wideroe ครับ ราคาถ้าจองใกล้จะแพงหน่อย มีสนามบินใกล้ๆ ให้เลือกลงได้ 2 เมืองครับ คือ Hennignsvaer และ Leknes จะลงเมืองไหนก็ได้ครับเพราะระยะทางไม่ไกลกัน แต่ถ้าให้แนะนำผมว่าลง Leknes จะใกล้ที่เที่ยวทางใต้มากกว่า ใช้เป็นจุดศูนย์กลางการเดินทางค่อนข้างสะดวกครับ

  3. สวัสดีครับ รบกวนสอบถามครับพอดีจะบินการบินไทย 23OCT2019 bkk – Osl ถึงเช้า 07.25 น. ผมจะนั่งเครื่องภายในประเทศ Osl-Lkn รอบ 10.45 น.- 13.05 น. ทันไหมครับ ไม่อยากไปถึงช่วงเย็นครับ จะเดินทาง ปลาย ตค นี้ครับ ผมได้ราคาตั๋วค่อนข้างแพงไปไหมครับ ไปกลับ 486 EUR ขอบคุณครับ

  4. ทันครับ ของผมถึง OSL 6.50 น. ต่อ flight ไป LKN 10.55 เข้า ตม.+รอกระเป๋า แล้วเวลาเหลือเกือบๆ 2 ชม. แต่ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนคนและ ตม.ที่เปิดด้วยครับ แต่ผมว่าไม่น่ามีปัญหา ส่วนราคาตั๋วนี่คือเฉพาะ OSL-LKN ไปกลับหรือเปล่าครับ ถ้าใช่ก็ราคาปกติครับ (ปกติมันจะประมาณ 380-500)

  5. รายละเอียดการเที่ยวดีมากครับ ชอบเลยอยากเที่ยวตามรอยบ้าง แฟนอยากดูแสงเหนือ
    กะไปช่วง 17-26 มีนาคม 2563
    อยากขอคำแนะนำหน่อยว่า ที่ lofoten และ Tromso ควรพักเที่ยวที่ละกี่คืนครับ

    • ที่ Lofoten ผมว่าประมาณ 3 คืน (แล้วแต่ว่าวันแรกจะไปถึงเย็นไหม แต่กะให้มีเวลาเที่ยวประมาณ 3 วันเต็มๆ) กำลังดีครับ ส่วนที่ Tromso ผมพักแค่คืนเดียวว่าน้อยไปหน่อย แนะนำ 2 คืนครับ (ให้มีเวลาเที่ยว 1-2 วันเต็มๆ) จะได้เดินเล่นในเมืองสบายๆ ด้วย

Comments are closed.