ไม่ว่าที่ไหนจะใกล้ไกลแค่ไหน ถ้าอยากไป ก็หาเวลาไปกันเลย ที่อยุธยานี่นอกจากเราจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ (มากน้อยแล้วแต่ความชอบ) ได้จินตนาการถึงความรุ่งเรืองสวยงามในอดีต ยังมีจุดถ่ายรูปสวยๆ ให้คนชอบถ่ายรูปมาเดินกันเพลินๆ ด้วย ได้มุมมองดีๆ หลากหลายมาก
บทความนี้ผมขอแทรกเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการถ่ายรูปที่ผมใช้ในทริปนี้เสริมเป็นระยะๆ นะครับ เพื่อเป็นการแชร์ประสบการณ์ที่ลองผิดลองถูกมา
- ในบทความนี้กล้องที่ใช้ 90% เป็น Fuji X-T20 เลนส์ XF 18-135 mm และ XF 14 mm f 2.8 แต่มีบางรูปที่ถ่ายจากกล้อง Nikon DSLR ตัวเก่าก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ Fuji (วัดไชยวัฒนารามและวัดใหญ่ชัยมงคล)
- ทุกรูปแต่งรูปด้วย Lightroom ครับ
- ทุกคนต้องรู้จัก “กรุงศรีอยุธยา” เพราะต้องเคยได้เรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อยแน่นอน แต่จะว่าไป พอกาลเวลาล่วงเลยไปจนอายุปูนนี้ จะยังมีความทรงจำเกี่ยวกับ “อยุธยา” เหลืออยู่มากน้อยเท่าไร
- ผมก็เป็นคนนึงที่จำอะไรไม่ได้ เพราะไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ รู้แต่ว่าอยุธยาอยู่ใกล้กรุงเทพนิดเดียว จะไปเมื่อไรก็ได้
- แต่เชื่อไหม…จนอายุขึ้นเลขสี่แล้ว เคยไปอยุธยาไม่ถึง 3 ครั้ง และความทรงจำเกี่ยวกับที่นี่ก็เลือนหายไปเกือบหมดแล้ว เวลาฝรั่งถามว่าเที่ยวไหนดีแถวๆ กรุงเทพ ก็บอกได้แต่ว่า “ไปอยุธยาสิ เมืองเก่าแก่ของไทย สวยนะ”…แต่ถ้าลงรายละเอียดว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง จะเที่ยวยังไง…ไม่รู้เลยครับ น่าอายไหมล่ะ
- ครั้งนี้ถือว่าได้ฤกษ์งามยามดี มีโอกาสมาเที่ยวแบบเต็มๆ ได้ค้างคืน 1 คืน ทำให้ไม่ต้องเที่ยวแบบรีบร้อนมาก ได้มีโอกาสศึกษาเส้นทางและแผนที่ ทำให้รู้จักอยุธยามากขึ้น (แต่อย่าถามข้อมูลประวัติศาสตร์แล้วกัน 555 รู้แบบผิวๆ มาก) ที่นี่มีมุมถ่ายรูปสวยๆ เยอะมาก โดยเฉพาะช่วงแสงเย็นตอนพระอาทิตย์ตก (พระอาทิตย์ขึ้นไม่ต้องถามครับ ไม่ตื่น 555) ลองจินตนาการความสวยงามที่เห็นในตอนนี้ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ “อยุธยา” ยังรุ่งเรืองต้องยิ่งใหญ่และสวยมากๆๆๆ แน่นอน
- กรุงศรีอยุธยาที่มีลักษณะเป็นเกาะมีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก และลพบุรี ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์และยังเป็นปราการธรรมชาติป้องกันข้าศึกอีกด้วย
- ที่นี่เป็นราชธานีของสยามประเทศยาวนานถึง 417 ปีก่อนที่จะเสียกรุงให้แก่พม่า โดย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานีเมื่อปี พ.ศ. 1893 จนสิ้นสุดในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์เมื่อ พ.ศ. 2310
- ภาพแผนที่ด้านล่างมีชื่อว่า “ยูเดีย” ซึ่งวาดโดยดาวิดและโยฮันเนส วิงโบนส์ ชาวฮอลันดาเมื่อปี พ.ศ. 2206 ซึ่งของจริงมีขนาด 97×140 เซนติเมตร เป็นแผนที่ที่แสดงภาพของเกาะเมืองที่ล้อมรอบด้วยกำแพงอิฐ เทือกเขาและเม่น้ำ และแสดงถึงความสวยงามยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยรุ่งเรืองจนถูกขนานนามว่า “เวนิสแห่งตะวันออก” ปัจจุบันแผนที่นี้เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอัมสเตอร์ดัม (Rijksmuseum) ประเทศเนเธอร์แลนด์
- อยุธยาเริ่มมีการบูรณะอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาจนได้จัดตั้งเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” มีเนื้อที่ 1,810 ไร่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO ในปี พ.ศ. 2534
- ที่นี่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ทำให้คนส่วนใหญ่มาเที่ยวกันแบบ one-day trip แต่เนื่องจากพื้นที่กว้างขวางมาก มีวัดและจุดน่าสนใจมากมาย ทั้งสถานที่ประวัติศาสตร์ ร้านอาหาร และคาเฟ่น่ารักๆ ทำให้วันเดียวไม่น่าจะทั่ว ผมแนะนำให้มาค้างซักคืนนึง จะได้เที่ยวถึงมืดๆ และออกเริ่มวันใหม่ในตอนเช้าหน่อย จะได้บรรยากาศที่คนไม่พลุกพล่าน เงียบสงบดี และเที่ยวได้หลายที่แบบไม่รีบ ไม่เหนื่อย
- รอบนี้ผมเที่ยวช่วงบ่าย ค้าง 1 คืน แล้วเที่ยวต่อครึ่งเช้าของอีกวัน ก็ถือว่าครบตามจุดสำคัญๆ ครับ แต่ก็ยังมีที่เที่ยวอีกหลายที่มากที่ไม่ได้แวะไป เช่น พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น, พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา และวัดต่างๆ อีกหลายวัด ถ้ามีโอกาสอีก รับรองไม่พลาด
- เวลาเปิดปิดที่แนะนำในบทความนี้อาจมีคลาดเคลื่อนบ้างนะครับ เพราะหาข้อมูลในอินเตอร์เนตแล้วมันบอกไว้ไม่ค่อยตรงกันซักที่ ตอนไปเที่ยวก็ไม่ได้จดไว้ด้วย
ดาวน์โหลดแผนที่สถานที่เที่ยวสำคัญในเกาะอยุธยา >>> คลิ๊ก!
วันแรก
วันนี้ผมมาถึงอยุธยาช่วงบ่ายๆ เลยตัดสินใจขับรถเที่ยวเอา เพราะจุดหมายส่วนใหญ่จะอยู่รอบนอกเกาะ (ตามแผนที่ด้านล่าง) ซึ่งไม่มีเลนจักรยานครับ เลยขอไม่เสี่ยงขี่จักรยาน ขับรถสะดวกกว่า หรือถ้าไม่อยากขับอาจเช่าเหมารถตุ๊กตุ๊กพาเที่ยวได้ มีราคาต่อชั่วโมงและเหมาเป็นวัน
1. ป้อมเพชร
ป้อมเพชรอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ เป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา, ป่าสัก และลพบุรี ทำหน้าที่เป็นป้อมป้องกันข้าศึก ในอยุธยามีหลายป้อม แต่ป้อมเพชรเป็นป้อมที่ยังหลงเหลือให้ได้เห็นร่องรอยอยู่
🤩 เวลาเปิดปิด: ตลอดเวลา
🤩 ค่าเข้า: ฟรี
🤩 Tips: เห็นวิวแม่น้ำ 3 สายมาบรรจบกัน และมองเห็นวิววัดพนัญเชิงฝั่งตรงข้ามด้วย
บางทีการมีต้นไม้ ใบไม้ ขวางอยู่หน้าสิ่งที่เราต้องการจะถ่าย ก็เพิ่มความน่าสนใจของรูปได้นะครับ อย่างรูปล่าง แทนที่เราจะเดินไปถ่ายวิวเรือกับแม่น้ำตรงรั้ว ถอยออกมาให้ต้นไม้และใบไม้เป็นกรอบรูป ก็สวยไปอีกแบบ แต่อย่าลืมโฟกัสให้ถูกจุด ถ้าเผลอไปโฟกัสต้นไม้ เรือที่เราต้องการมันจะเบลอซะ แล้วก็อย่าลืมปรับการชดเชยแสงให้ดีด้วยครับ รูปลักษณะนี้บางทีกล้องจะปรับอัตโนมัติให้ต้นไม้สว่างกำลังดี แต่มันจะทำให้เรือด้านหลังมันสว่างจ้าไป
เวลาถ่ายสถานที่ใหญ่ๆ หรือวิวใกล้ๆ ผมชอบใช้เลนส์ไวด์เพราะเก็บได้กว้าง ขอบจะ distort นิดๆ สวยดี แต่ถ้าเป็นวิวไกลๆ ถ้าใช้เลนส์ไวด์มันจะทำให้วิวเล็กไปหมด อาจจะไม่ค่อยสวย
2. วัดใหญ่ชัยมงคล
วัดใหญ่ชัยมงคลเป็นวัดที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในอยุธยา สร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง จุดสถานที่สำคัญในวัดนี้ เช่น เจดีย์ชัยมงคล, วิหารพระพุทธไสยาสน์ (วิหารพระนอน), พระพุทธรูปที่อยู่ด้านหลังเจดีย์ และตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.00-17.00 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: ถ่ายภาพเจดีย์ชัยมงคลช่วงบ่ายจะย้อนแสงหน่อย เดินให้รอบเจดีย์จะมีองค์พระอยู่ด้านหลังด้วย และอย่าลืมแวะสักการะพระพุทธไสยาสน์
ที่ไหนมีประตู มีซุ้ม หรือกรอบหน้าต่าง หรือแม้กระทั่งกิ้งไม้ใบไม้รกๆ ลองก้มๆ เงยๆ เดินหน้าถอยหลังดู สามารถใช้ของเหล่านั้นเป็นกรอบให้วัตถุที่เราจะถ่ายโดดเด่นแปลกตาขึ้นมาได้
Trick ในการถ่ายรูปย้อนแสงอย่างหนึ่งคือ ลองหามุมที่มีกิ่งไม้ใบไม้บังดวงอาทิตย์ซักนิด ให้แสงมันลอดผ่าน ก็จะทำให้รูปไม่สว่างจ้าจนเกินไป และยังได้แสงจ้าของดวงอาทิตย์ตัดกับโครงร่างของใบไม้แบบ rim light หน่อยๆ ด้วย (แต่ภาพอาจจะมืดหน่อย ต้องใช้โปรแกรมแต่งรูปช่วยดึงแสงเพิ่มหน่อย)
แรกๆ ที่เริ่มลองถ่ายรูป มักจะคิดว่าพวกกิ่งไม้ใบไม้ที่ยื่นเข้ามาในรูปนี่รกชะมัด แต่ไปๆ มาๆ มันทำให้รูปสวยและน่าสนใจมากขึ้นแฮะ ยิ่งถ้าเป็นกิ่งโกร๋นๆ ตัดกับฟ้าสีฟ้าแล้วนี่ มันก็สวยดีนะครับ
มองภาพมุมกว้างของสถานที่ที่เราไปแล้ว อย่าลืมใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ บางครั้งเลนส์ซูมก็จะทำให้เราได้ภาพที่แปลกตาไปอีก
สามารถเดินขึ้นไปบนเจดีย์ได้ ปัจจุบันเขาทำบันไดใหม่แล้ว เรียบมั่นคงและเดินง่ายครับ
พระพุทธรูปด้านหลังองค์เจดีย์
ตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
จากที่จอดรถ ตำหนักฯ จะอยู่อีกฟากถนนกับวัดใหญ่ชัยมงคล
3. วัดพนัญเชิงวรวิหาร
วัดพนัญเชิงเป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา แต่ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.00-17.00 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: นอกจากสักการะหลวงพ่อโตแล้ว ยังมีตำหนักพระนางสร้อยดอกหมากซึ่งเป็นศิลปะแบบจีนสวยงาม
พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง
เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 20 เมตร สูง 19 เมตร เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนซึ่งขนานนามหลวงพ่อโตองค์นี้ว่า “ซำปอกง”
4. หมู่บ้านฮอลันดา
หมู่บ้านฮอลันดาถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2177 ติดกับอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ ปัจจุบันทำเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์เพื่อการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ ผมไปไม่ทันเวลาปิดเลยไม่ได้เข้าครับ ได้แต่เดินดูรอบๆ ตัวอาคารเป็นบ้านทรงยุโรปอยู่ริมแม่น้ำ
🤩 เวลาเปิดปิด: 9.00-17.00 น. (ปิดวันจันทร์และอังคาร)
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: ไม่มี
คานเรือศรีเจริญ ตรงทางเลี้ยวเข้าหมู่บ้านฮอลันดา มีเรือเก่าๆ ตั้งอยู่เยอะ ดูแล้วก็สวยดี
5. หมู่บ้านญี่ปุ่น
หมู่บ้านญี่ปุ่นเป็นชุมชนชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยานั้นเริ่มมีขึ้นราวสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา อยู่ตรงข้ามคนละฝั่งแม่น้ำกับหมู่บ้านโปรตุเกส ที่นี่ค่าเข้า 50 บาท ไม่แพงเลย เข้ามานี่ตื่นตาตื่นใจเล็กน้อยเพราะตอนแรกนึกว่ามีแค่อาคารกับซากสิ่งก่อสร้างเก่าๆ แต่ที่ไหนได้พื้นที่กว้างขวาง เขาจัดสวนได้ร่มรื่นและสวยมากครับ มีร้านอาหารเล็กๆ และตึกพิพิธภัณฑ์อยู่ 2 ตึก
🤩 เวลาเปิดปิด: 9.30-18.00 น. (วันเสาร์และอาทิตย์เปิด 8.30 น.)
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): 50 บาท
🤩 Tips: มีบริการเช่าชุดญี่ปุ่นถ่ายรูปเล่นด้วย
ตึกแรก
- เป็นตึกจัดแสดงสิ่งของต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ และมี timeline ของเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของอยุธยาด้วย ซึ่งทำได้ดีมากครับ
- มีให้ดูวิดิทัศน์เกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้านญี่ปุ่น
- มีชุดญี่ปุ่นให้เช่าเดินถ่ายรูปเล่นด้วย
ตึกที่สอง
- แสดงนิทรรศการของบุคคลสำคัญ 2 ท่าน คือ ท่านออกญาเสนาภิมุข (ยามาดะ นางามาซะ) และท้าวทองกีบม้า
- เป็นนิทรรศการเล็กๆ และมีวิดิทัศน์ให้ได้ชมด้วย
6. หมู่บ้านโปรตุเกส
หมู่บ้านโปรตุเกสเป็นที่อยู่ชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับอยุธยา สถานที่จัดแสดงนี้ในอดีตเป็นโบสถ์และสุสาน ปัจจุบันหลงเหลือเป็นปัจจุบันซากของสิ่งก่อสร้างซึ่งก็คือโบราณสถานซานเปโตร (หรือเรียกในสมัยอยุธยาว่าโบสถ์เซนต์โดมินิค) มีอาคารจัดแสดงวัตถุต่างๆ และโครงกระดูกที่ขุดค้นพบด้วย
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.00-17.00 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: ไม่มี
ถ่ายรูปย้อนแสงใครว่าไม่สวย บางครั้งหาต้นไม้มาอยู่ในรูปซักหน่อย หามุมที่เห็นแสงจากดวงอาทิตย์ลอดตามกิ่งไม้ใบไม้มา สวยไปอีกแบบ
เงาของแสงแดดที่ลอดผ่านช่องหน้าต่าง ให้อารมณ์ของภาพได้หลากหลายมาก
มองข้ามแม่น้ำไปจะเห็นหมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่ตรงข้าม จริงๆ เขาน่าจะจัดให้มีเรือข้ามฟากแบบเที่ยวได้ทั้งสองที่ในคราวเดียวด้วย แล้วก็ปรับปรุงการจัดแสดงของหมู่บ้านโปรตุเกสอีกซักหน่อย น่าจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อยเลย
7. วัดพุทไธศวรรย์
วัดพุทไธศวรรย์สร้างโดยพระเจ้าอู่ทองบนพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จุดสถานที่สำคัญ เช่น ปรางค์ประธานซึ่งเป็นศิลปะแบบขอม, วิหารพระนอน และพระบรมราชานุสาวรีย์ 5 บูรพกษัตริย์ วันที่ไปเย็นมากแล้ว เลยไม่ได้เดินต่อเข้าไปในส่วนวิหารพระนอนและปรางค์ประธาน
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.30-16.30 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: อย่าลืมชมให้ครบทุกบริเวณ (มี 2 โซนหลักๆ คือ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ 5 บูรพกษัตริย์ และวิหารพระนอน ซึ่งสามารถเดินถึงกันได้)
การถ่ายวิวที่เราต้องการ ถ้ามีฉากหน้าซักนิด จะทำให้ภาพดูมีอะไรมากขึ้น อย่างเช่นภาพล่างใช้โต๊ะเก้าอี้มาช่วย หรือถ้าอยู่ตามธรรมชาติ ก้มหาต้นหญ้าหรือดอกไม้ให้เข้ามาร่วมเฟรมทางด้านล่าง (แต่ต้องโฟกัสที่วิวนะครับ) จะทำให้รูปมุมมหาชนกลายเป็นรูปที่ดูแปลกตาได้
พระบรมราชานุสาวรีย์ 5 บูรพกษัตริย์
เป็นพระราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง), สมเด็จพระนเรศวรมหาราช, สมเด็จพระเอกาทศรถ, สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลองเดินรอบสิ่งที่เราจะถ่ายดู หามุมแปลกๆ อย่าถ่ายแต่หน้าตรง มุมอื่นก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป และหลายครั้งไฮไลท์ของสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ด้านหน้าก็ได้
8. โบสถ์นักบุญยอเซฟ
เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย อยู่ทางผ่านจากวัดพุทไธศวรรย์ไปวัดไชยวัฒนาราม แต่ผมไม่ได้แวะเข้าไปครับ เพราะเย็นแล้ว เดี๋ยวจะไปวัดไชยฯ ไม่ทันแสงเย็นหมด เลยเอารูปจากอินเตอร์เนตมาให้ดูแทน
9. วัดไชยวัฒนาราม
วัดไชยวัฒนารามเป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นวัดอรัญวาศรีในบริเวณที่ดินซึ่งเป็นนิวาสสถานของพระราชชนนีในปีที่ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. 2173)
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.30-16.30 น. แต่หลังจากนั้นยังจะสามารถเดินชมรอบๆ ได้
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): 10 บาท
🤩 Tips: ท้องฟ้าช่วงแสงเย็นสวยมาก หลังพระอาทิตย์ตกจนถึงประมาณสามทุ่มมีการเปิดไฟด้วยครับ
มองไปกว้างๆ ใช้จินตนาการในการวางเฟรมรูปที่จะถ่าย อย่างต้นไม้สองต้นข้างล่าง ก็กลายมาเป็นกรอบเก๋ๆ ของยอดพระปรางค์ได้
ลองเปลี่ยนจากการยืนตัวตรงถ่ายรูปมุมปกติ มาเป็นถ่ายมุมเสย หรือถ่ายจากด้านข้างให้กำแพงใหญ่เป็นเส้นนำสายตาดูบ้าง
หลายครั้งที่เราจะถ่ายรูปแล้วดันเจอดวงอาทิตย์ลอยอยู่ตรงหน้า ทำให้ รูปย้อนแสง อย่าเพิ่งเซ็งไป มีหลายเทคนิคที่ทำให้รูปดูดีขึ้นมาได้ เช่น….
- ถ่ายให้วัตถุของเราเป็นเงาดำ (silhouette) ซะเลยอย่างรูปข้างล่างนี่ผมชอบมาก ถ้าได้ช่วงแสงดีๆ ปรับรูรับแสงพอเหมาะ ก็จะได้ดวงอาทิตย์เป็นแฉกๆ ด้วย เก๋มาก แต่การถ่ายแบบ silhouette นี้ต้องหาวัตถุให้มีโครงที่สวยด้วยเพราะในรูปเราจะเห็นแค่ขอบของวัตถุ เช่น คนกำลังกระโดดหรือทำท่าต่างๆ, เงาต้นไม้, เงาวัดหรือพระพุทธรูป
- ถ่ายให้แสงฉาบที่ขอบวัตถุเรา จะเห็นเป็นแสงฟุ้งๆ ที่เขาเรียกกันว่า rim light (เดี๋ยวนี้นิยมถ่ายแบบนี้กันเยอะโดยเฉพาะการถ่ายคนแบบ portrait)
- หาต้นไม้ ใบไม้มาเป็นฉากหน้า แล้วเดินหามุมถ่าย ให้แสงอาทิตย์มันลอดรูของกิ่งไม้ใบไม้ออกมา (อย่างรูปของวัดใหญ่ชัยมงคลและหมู่บ้านโปรตุเกสที่ให้ดูไปด้านบน)
- เลือกช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก อาจจะได้เงา silhouette พร้อมท้องฟ้าสีส้ม ชมพู ม่วงแล้วแต่วัน
- ถ้าเล็งตรงดวงอาทิตย์จะๆ ระวังเซนเซอร์ของกล้องไว้นิดนึงครับ อย่าทำบ่อยนัก
- การถ่ายแบบย้อนแสง หลายครั้งจะมีแฟลร์ เป็นดวงๆ ของแสง บางครั้งก็สวย แต่หลายครั้งมันก็ไม่สวย แก้ไขได้โดยใช้ฮู้ด ส่วนผมชอบใช้กระดาษหรือมือยกขึ้นบังเอา
- แต่อาจต้องใช้เทคนิคอื่นๆ ช่วยด้วยครับ เช่น การปรับชดเชยแสง, การใช้แฟลช และสุดท้ายอาจต้องพึ่งโปรแกรมแต่งรูปช่วยด้วย
ยามพระอาทิตย์กำลังจะลาลับขอบฟ้า ก็ได้แสงที่น่าประทับใจมาก
รูปย้อนแสงตอนพระอาทิตย์ตกดิน ได้เงา silhouette และท้องฟ้าสีส้ม
10. ตลาดกรุงศรี หรือ อยุธยาไนท์มาร์เกต
ที่อยุธยามีตลาดนัดให้เดินเล่นเยอะมากครับ ที่นี่ก็เป็นอีกที่นึงที่อยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมือง ที่สำคัญคือเปิดถึงช่วงสี่ทุ่ม (เปิดวันศุกร์, เสาร์และอาทิตย์) ผมเลยเลือกมาเดินเล่นที่นี่ (เพราะกลางวันหมดเวลาไปกับการเที่ยวตามที่ต่างๆ จนหลายตลาดปิดไปแล้ว) มีของกิน จุดถ่ายรูปสวยๆ หลายจุดเลย
🤩 เวลาเปิดปิด: 9.00-22.00 น. เฉพาะวันศุกร์, เสาร์และอาทิตย์
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: เตรียมท้องมาให้พร้อม ของกินเยอะ โดยเฉพาะพวกขนมและของกินเล่นๆ
มีคนแต่งชุดทหารมาให้ถ่ายรูปด้วย
วันที่ 2
- เป็นวันที่ผมวางแผนจะขี่จักรยานเที่ยวรอบอุทยาน เพราะขี้เกียจขับรถเนื่องจากที่จอดรถยนต์บางทีก็หายาก เลยลองเที่ยวด้วยการขี่จักรยานดูบ้าง ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยเพราะถนนภายในเกาะเมืองมีเลนจักรยานให้ชัดเจน (แต่บางทีมันก็ทับซ้อนกับรถยนต์ด้วย ก็ต้องระวังอยู่ดีนะครับ)
- แต่เนื่องด้วยอากาศต้นเดือนพฤษภาร้อนมากกกก เลยตัดสินใจกับเพื่อนว่า ออกจากโรงแรมซักหกโมงครึ่งดีกว่า ปรากฎว่าบรรยากาศช่วงเช้าดีมากกก รถยนต์น้อย อากาศไม่ร้อนมากนัก นักท่องเที่ยวน้อย แนะนำเลยครับ ประทับใจ
- มีที่ให้เช่าจักรยานหลายที่ครับ ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 50 บาทต่อวัน เห็นเขามักจะเช่ากันที่สถานีรถไฟ แต่บางโรงแรมก็มีจักรยานให้ฟรีครับ ผมพักที่ศาลาอยุธยาก็มีจักรยานให้ฟรีเหมือนกัน
- ในอุทยานประวัติศาสตร์นี้ จะเก็บค่าเข้าชมสถานที่แยกเป็นที่ๆ ไปครับ ส่วนใหญ่จะ 10 บาทต่อที่ (ราคาคนไทย) แต่ถ้าเข้าหลายวัด สามารถซื้อบัตรเหมาได้ในราคา 40 บาท (ซึ่งรวมวัดพระศรีสรรเพชญ์, วัดมหาธาตุ, วัดราชบูรณะ, วัดพระราม, วัดไชยวัฒนาราม และวัดมเหยงคณ์) สามารถซื้อได้ที่ซุ้มขายตั๋วที่ไหนก็ได้ครับ
- ข้อดีอีกข้อของการขี่จักรยานคือการเที่ยวในบึงพระรามและพระราชวังโบราณ ถ้าเดินนี่ลิ้นห้อยแน่ๆ จริงๆ ก็ไม่ได้กว้างมาก แต่มันร้อน (มาก)!
- แต่ข้อเสียของการออกเช้ามาก คือ หลายวัดยังไม่เปิด ส่วนใหญ่เขาจะเปิดประมาณ 8.00-8.30 น. ถ้าวางแผนจะเข้าวัดไหนก็ปรับเวลากันให้ดีครับ
- ผมใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการเที่ยวตามจุดในแผนที่ด้านบนครับ โดยได้เข้าไปเดินแค่วัดราชบูรณะและวัดมหาธาตุ
1. ศาลหลักเมือง
- ศาลหลักเมืองของอยุธยาเป็นสถาปัตยกรรมไทย มณฑปจตุรมุขทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่ออิฐฉาบปูนขาว มีประตูเข้าออก 4 ด้าน และมีบันไดขึ้นลง 3 ด้าน
- เสาหลักเมืองทำจากไม้มงคลชัยพฤกษ์ ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปดอกบัวแก้วซ้อนกัน 7 ชั้น
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.30-21.00 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: ไม่มี
2. คุ้มขุนแผน
เป็นหมู่ของบ้านทรงไทยหลังคาจั่วยอดแหลม ประกอบด้วยเรือนหลายหลัง เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาล มณฑลกรุงเก่า พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ทรงสร้างขึ้นประมาณปีพ.ศ. 2437 และปรับปรุงบูรณะเรื่อยมา ผมไม่ได้เข้าไปเพราะไม่น่าจะมีอะไรให้ดูนัก เลยถ่ายแต่ด้านนอก
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.30-16.30 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: บรรยากาศเหมือนบ้านทรงไทยทั่วไป มีสวนร่มรื่นโดยรอบและสระน้ำเล็กๆ ถ้าไม่มีเวลาก็อาจไม่ต้องแวะก็ได้ครับ
3. วัดพระราม และ บึงพระราม
วัดพระรามถูกสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 1912 ในสมัยสมเด็จพระราเมศวร ใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอู่ทอง (พระราชบิดา) ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวิหารพระมงคลบพิตร ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะบึงพระราม
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.30-16.30 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): 10 บาท
🤩 Tips: ล้อมรอบด้วยสวนสาธาณะบึงพระราม มานั่งเล่นตอนเย็นได้ แสงเย็นตรงจุดนี้ก็สวยไม่แพ้ที่วัดไชยวัฒนารามเลย
4. วิหารพระมงคลบพิตร
วิหารนี้เป็นที่ประดิษฐานของ พระมงคลบพิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระไชยราชา (พ.ศ. 2081) แต่เดิมวิหารและองค์พระได้ถูกทำลายไปมาก (ตามรูปด้านล่าง) จนเมื่อ พ.ศ. 2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้บูรณะวิหารขึ้นใหม่ทั้งหมด
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.00-16.30 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: จอดรถบริเวณนี้เดินเที่ยวได้ทั้งที่นี่และวัดพระศรีสรรเพชญ์ซึ่งอยู่ข้างๆ กัน
ตอนที่ไปถึงตัววิหารยังไม่เปิดให้เข้าสักการะองค์พระ
5. วัดพระศรีสรรเพชญ์
- วัดพระศรีสรรเพชญ์นี้จัดว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญที่สุดของอยุธยา เดิมเป็นพระราชวังที่ประทับของพระเจ้าอู่ทอง แต่ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991) ได้โปรดให้ย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ในพื้นที่ด้านข้างริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังเดิมนี้ให้เป็นวัดสำหรับประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆ
- วัดนี้เป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วด้วย
- ภายในวัดมีเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ 3 องค์ เป็นประธานของวัด
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.00-18.00 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): 10 บาท
🤩 Tips: ช่วงหลังพระอาทิตย์ตกจนถึงประมาณสามทุ่ม มีการส่องไฟด้วย และบริเวณโดยรอบวัด เป็นทางเดินร่มรื่น และสามารถเดินต่อไปยังพระราชวังโบราณได้ด้วย แต่ไกลพอควร (ขี่จักรยานจะดีมาก)
หลายครั้งเราอาจเห็นวัตถุที่จะถ่ายได้ไม่เต็ม แต่ลองหาสิ่งรอบๆ มาทำให้ภาพน่าสนใจขึ้น เช่น ในรูปเห็นแต่ยอดของเจดีย์ แต่เป็นเจดีย์ 3 องค์หลักที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดนี้ ใช้ยอดสีเขียวของต้นไม้ที่มาบังเป็นกรอบทางด้านล่าง ตัดกับยอดเจดีย์สีขาว และท้องฟ้าสีฟ้า ผมว่าสวยดี
6. พระราชวังโบราณ
- พื้นที่ของพระราชวังโบราณที่เห็นในปัจจุบันใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเป็นศูนย์กลางด้านการเมืองและการปกครองในอดีตหลังจากที่ย้ายมาจากพระราชวังเดิมซึ่งอยู่ในพื้นที่ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ในปัจจุบัน
- พื้นที่ของพระราชวัง แบ่งออกเป็น 3 เขต คือ เขตพระราชฐานชั้นนอก, ชั้นกลาง และชั้นใน ประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ เช่น พระที่นั่งวิหารสมเด็จ, พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท, พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์, พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ และพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ เป็นต้น
- แต่น่าเสียดาย ปัจจุบันเหลือแต่เพียงฐานรากของพระที่นั่งองค์ต่างๆ เท่านั้น ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาในเขตพระราชวังโบราณ อย่างผมนี่เข้ามาในเขตวังแล้วแต่ก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ในเขตวัง มองเห็นมีป้ายพระที่นั่งต่างๆ ทั้งๆ ที่มีแค่ฐานอิฐ
🤩 เวลาเปิดปิด: 7.00-18.30 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): 10 บาท (อันนี้ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะตอนผมไปมีโต๊ะขายบัตรของวัดพระศรีสรรเพชญ์แต่เขายังไม่เปิดขาย แต่ทางไปพระราชวังไม่มีประตูกั้น เลยขี่จักรยานเข้าไปได้เลย เลยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วโซนนอกวัดแถวพระราชวังเขาเก็บค่าเข้ากันหรือเปล่า)
🤩 Tips: ไม่แนะนำให้เดินครับเพราะร้อนและไม่มีอะไรให้ดู 555 มีแต่ฐานอิฐพังๆ แต่ถ้าขี่จักรยานนี่แนะนำให้ขี่เข้ามาครับ เพราะวิวโดยรอบสวยดี
ภาพจำลองพระที่นั่งต่างๆ ในเขตพระราชวัง
ก็ยังมีพระที่นั่งที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่
แต่โดยรอบส่วนใหญ่ก็จะเป็นแค่ฐานอิฐของพระที่นั่งเดิมๆ หลงเหลือให้จินตนาการอยู่บ้าง
ลองหาวัตถุเป็นเส้นนำสายตาดู จะเป็นอะไรก็ได้ เช่น แนวกำแพง, ทางเดิน, สายน้ำ, แนวต้นไม้ ฯลฯ จะทำให้ภาพดูมีมิติขึ้น
7. วัดธรรมิกราช
วัดธรรมิกราชเป็นวัดที่ยังมีพระสงฆ์จำวัดอยู่ สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างขึ้นสถาปนากรุงศรีอยุธยา จุดสถานที่สำคัญ เช่น เจดีย์ทรงกลมที่มีรูปปั้นสิงห์ล้อมรอบ และวิหารหลวง เสียดายที่ผมไม่ได้เข้าไปครับ เพราะตอนที่ไปวัดยังไม่เปิด เลยได้แต่ถ่ายกำแพงจากด้านนอก
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.30-16.30 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): ฟรี
🤩 Tips: อย่าลืมเข้าข้างในครับ (เสียดายผมไม่ได้เข้า) มีเจดีย์สิงห์ล้อมที่แทบจะไม่เห็นแล้วในประเทศไทย
ด้านล่างเป็นรูปภายในวัด (ภาพจากอินเตอร์เนต)
8. วัดราชบูรณะ
- วัดราชบูรณะก็เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 1967 ในบริเวณที่ถวายเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากการรบแย่งชิงราชสมบัติ
- ในปี พ.ศ. 2499 มีคนร้ายได้ลักลอบขุดกรุในองค์ปรางค์ประธาน พบของมีค่าจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงดำเนินการขุดกรุในองค์ปรางค์ประธานอีกครั้งพบเครื่องทอง พระพิมพ์แบบต่างๆ และของมีค่าอื่นๆ เป็นจำนวนมาก แต่พระพิมพ์ส่วนหนึ่งนั้น กรมศิลปากรได้ให้เป็นของที่ระลึกสำหรับประชาชนที่นำเงินมาบริจาคเพื่อสร้างพิพิธฑภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และนำสิ่งของที่ได้จากกรุมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.00-16.30 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): 10 บาท
🤩 Tips: สามารถขึ้นไปบนพระปรางค์ได้ครับ ด้านบนมีทางเดินลงไปดูบริเวณที่เขาค้นพบกรุสมบัติและมีภาพฝาผนังให้ดูด้วย (ผมไม่ได้ลงไปเพราะเขาปิดซ่อมแซม)
ยอดพระปรางค์และรูปปูนปั้นหลายจุดได้รับการบูรณะใหม่แล้ว
สามารถเดินขึ้นไปบนปรางค์ประธานได้ และมีบันไดให้ลงไปดูภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านล่างได้ ซึ่งเป็นบริเวณที่พบกรุของมีค่าต่างๆ แต่เสียดายตอนผมไปเขาปิดซ่อมแซมเลยอดลงไปดู
การได้ถ่ายสถานที่จากมุมสูง เป็นความฟินอย่างบอกไม่ถูก (อันนี้เป็นความแปลกส่วนตัว 555) จะชอบมากเวลามีจุดชมวิว หรือได้ขึ้นไปถ่ายจากมุมสูง เพราะทำให้เห็นสถานที่ที่เรารู้จักหรือเคยไปในภาพกว้าง แทนที่จะเห็นแค่จากพื้นดินใกล้ๆ
9. วัดมหาธาตุ
- วัดมหาธาตุสร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) เมื่อปี พ.ศ. 1917 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุภายในปรางค์ประธานของวัด
- ยอดของปรางค์ประธานได้ทลายลงมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันจึงเหลือให้เห็นแค่ส่วนฐาน (รูปล่าง) ส่วนพระบรมสาริกธาตุได้นำไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
🤩 เวลาเปิดปิด: 8.30-16.30 น.
🤩 ค่าเข้า (คนไทย): 10 บาท
🤩 Tips: วัดนี้มีมากกว่าเศียรพระพุทธรูปกับรากต้นโพธิ์นะครับ ลองเดินดูให้รอบ สวยมากไม่แพ้วัดอื่นเลย
องค์ประกอบของภาพเป็นสิ่งสำคัญมากครับ อย่าเน้นแต่วัตถุที่เราจะถ่ายอย่างเดียว หาสิ่งรอบๆ มาช่วยแต่งเติมภาพเราด้วย เช่น ในรูปล่างมีใบไม้ ต้นไม้พร้อมแสงเงามาเป็นเหมือนกรอบทางด้านบน ส่วนตัววิหารนั้นมีสีส้มอิฐ เลยถ่ายกว้างขึ้นอีกนิดให้เห็นพื้นหญ้าสีเขียนเป็นฉากหน้า สีสันตัดกันดูสวยดี
มุมมหาชนของวัดมหาธาตุก็คือ เศียรพระพุทธรูปที่ถูกโอบรอบด้วยรากของต้นโพธิ์
ผมมองว่าภาพทุกภาพมีเรื่องราวของมันเอง….จะวิวมุมไกลหรือวิวซูมใกล้ จะให้อารมณ์ของภาพแตกต่างกัน โดยเฉพาะถ้าเรากลับมาดูอีกครั้ง การดูรูปใกล้กับรูปไกล ภาพจำในใจเราก็ผุดมาแตกต่างกัน ว่าไหมครับ เวลาไปไหนผมถึงมักชอบถ่ายแบบบรรยากาศโดยรวมในมุมกว้าง และถ่ายซูมเป็นส่วนๆ ด้วย
เจดีย์โดยรอบหลายองค์ก็กำลังจะพังเหมือนกัน เห็นเขากำลังเร่งบูรณะกันอยู่
10. วัดบรมพุทธาราม
วัดนี้เคยเป็นพระอารามหลวงถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ประมาณปี พ.ศ. 2322 พระอุโบสถและวิหารการเปรียญมุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบแปลกตากว่าวัดอื่น วัดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดกระเบื้องเคลือบ” แต่ปัจจุบันไม่เห็นร่องรอยหลังคาแล้ว
อยุธยาเมืองใกล้ๆ กรุงเทพและยังเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของชาวไทย ปัจจุบันได้ถูกบูรณะเป็นอย่างดี มีระบบการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างสะดวกทีเดียว คนชอบศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์รับรองว่าไม่เบื่อ ส่วนคนชอบถ่ายรูปก็รับรองว่าสนุกเพราะมีมุมหลากหลายมาก