เสียมเรียบรีเทิร์น

ช่วยไลค์ช่วยแชร์ครับ

 

กลับมาเสียมเรียบรอบสองคราวนี้ (มาทำไมบ่อยๆ) มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างหรือเที่ยวแต่ที่เดิมๆ ลองตามมาดูกันครับ

 

 

ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563) ได้มีโอกาสกลับมาที่ “เสียมเรียบ” หรือ “เสียมราฐ” อีกครั้ง หลายอย่างก็เหมือนเดิม (จนหลายคนบอกว่าจะกลับมาเที่ยวซ้ำทำไม) แต่ก็มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนเดิม เลยมาเล่าให้ฟังกันอีกซักที รายละเอียดยุบยิบอื่นๆ อ่านได้จากบทความเก่าเลยครับ

เกร็ดเล็กน้อย (รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว) >>> คลิ๊ก!

สามวันกำลังดีที่เสียมเรียบ >>> คลิ๊ก!

พาสปอร์ตไม่ผิดเล่มแล้วววว

  • รอบก่อนมาถึงด่านช่องจอมที่สุรินทร์ (มาทำธุระที่สุรินทร์พอดี) แล้วเพิ่งพบว่าหยิบพาสปอร์ตเก่ามา! หายนะจึงบังเกิด (เจ็บปวด 😅) แทนที่จะได้นั่งรถไปนอนค้างเสียมเรียบชิลๆ คืนนึงวันรุ่งขึ้นค่อยเริ่มเที่ยว เลยต้องนั่งรถกลับบุรีรัมย์แล้วบินมากรุงเทพเพื่อเอาพาสปอร์ต แล้ววันรุ่งขึ้นค่อยบินไปเสียมเรียบใหม่ สะบักสะบอมและกระเป๋าตังค์เบาไปพอสมควร
  • ครั้งนี้มาทำธุระที่สุรินทร์อีกครั้ง เลยใช้แผนเดิม คือ ขึ้นรถจากด่านช่องจอม (รอบนี้เช็คแล้วเช็คอีกว่าพาสปอร์ตถูกเล่มแล้ว!) แล้วขากลับค่อยนั่งเครื่องกลับมากรุงเทพ ดูรอบและราคาตั๋วเครื่องบิน คลิ๊กที่รูปด้านล่างได้ครับ

 

  • ครั้งนี้จองขากลับไว้ เลยเพิ่งรู้ว่า Traveloka เขาสามารถ check-in ออนไลน์ได้แล้ว! โดยไม่ต้องเข้าหน้าเว็บของสายการบิน (ซึ่งบางทีถ้าจองผ่าน agency หน้าเว็บก็ไม่ให้ check-in ซะอย่างนั้น) ข้อดีของการ check-in ออนไลน์ไปก่อนถึงสนามบิน คือ สะดวก รวดเร็ว ทำให้ประหยัดเวลามากขึ้นโดยเฉพาะคนที่ไม่ต้องโหลดกระเป๋า ก็ไม่ต้องรอต่อแถวที่เคาน์เตอร์เช็คอิน สามารถเข้าไปที่ Gate ได้เลย (หมายเหตุ หลายสนามบิน/สายการบิน สามารถใช้ตั๋วที่ได้ทางแอพหรืออีเมลได้เลย แต่หลายที่ก็ยังต้อง print นะครับ ดังนั้นเพื่อความชัวร์ print ไว้ก่อนก็ดี )
  •  แล้วการ check-in ออนไลน์ผ่าน Traveloka ทำยังไง ไม่ยากครับ ทำผ่านแอพ Traveloka ในมือถือได้เลย ถ้าใครสนใจลองทำตามขั้นตอนด้านล่างเลยครับ ง่ายมาก หรือไปที่ https://www.traveloka.com/th-th/checkin

 

 

ไกด์ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

ที่นี่ไกด์มี 2 แบบหลักๆ (ไม่นับรวมเช่ารถพร้อมคนขับที่ขับเฉยๆ ไม่ได้เป็นไกด์) คือ

1. ไกด์ที่ต้องสอบใบอนุญาต กลุ่มนี้มักจะได้รับการจ้างจากบริษัทหรือนายหน้าอีกทีนึง เขาจะรับผิดชอบเฉพาะพาเที่ยวและอธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ข้อดีคือ ข้อมูลอาจจะแน่นปึ้กกว่า และการบริหารจัดการบางเรื่องที่เป็นทางการหน่อยจะง่ายกว่า (แต่เรื่องที่เป็นทางการนี่ไม่เจอตอนเที่ยวที่นี่ครับ เลยคิดว่าประโยชน์ข้อหลังนี่ไม่มากเท่าไร)

2. ไกด์ที่จัดการให้เราหมด ตั้งแต่พาเที่ยว, หารถพร้อมคนขับ (หรือเขาอาจจะขับเอง), จองโรงแรม, จัดโปรแกรมเที่ยว ฯลฯ ถึงเขาจะไม่ได้สอบใบอนุญาตแต่ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายนะครับ ส่วนข้อมูลสถานที่เที่ยวก็ต้องแล้วแต่ตัวบุคคลว่าเขาศึกษามาและสื่อสารให้เราได้มากน้อยแค่ไหน ผมว่าแบบนี้ดีกว่าเพราะมีคนจัดการให้หมด (บางครั้งค่าโรงแรมก็จะถูกกว่าเราจองเองผ่านเว็บต่างๆ) และโปรแกรมยืดหยุ่นได้มากกว่า

สองปีก่อนที่มานี่หาแต่รถพร้อมคนขับ แต่รอบนี้ไปกันหลายคนเลยติดต่อไกด์ไว้ด้วย โดยผมเลือกแบบที่ 2 เน้นพูดไทยได้ เดี๋ยวนี้ไกด์หลายๆ คนถ่ายรูปให้ด้วยจ้า รู้มุมถ่ายรูปพร้อมกล้องเทพ ถึงนายแบบไม่เทพ รูปก็ออกมาสวยได้ 🤣 (นานๆ ทีจะมีรูปตัวเองบ้าง นอกจากรูปวิว)

เอาล่ะ มาแนะนำไกด์ของเรากันหน่อย ถ้าใครสนใจติดต่อ น้องสุข ได้ครับ น้องเขาพูดไทย พิมพ์ไทย สื่อสารไทยได้ดีเยี่ยมเลย ตามลิงค์ด้านล่าง (เดี๋ยวนี้น้องเขางานเยอะนะครับ รีบจองแต่เนิ่นๆ)

เราไปกัน 6 คน ได้รถตู้สภาพดี นั่งสบายแอร์เย็นจนแทบจะไม่อยากลงเดิน อยากนั่งแต่ในรถ 555 🤣

 

 

คราวนี้มาเล่าถึงอะไรที่ไม่เหมือนเดิมบ้าง

 

หลายที่ปิดบูรณะ

บ่อน้ำหน้านครวัต

ที่นี่ตัวปราสาทก็สลับหมุนเวียนกันซ่อมสม่ำเสมอครับ แต่ที่ว่าปิดซ่อมรอบนี้คือ บ่อน้ำด้านซ้ายหน้านครวัต (บ่อซ้ายถ้าหันหน้าเข้านครวัต) น่าเสียดายมากเพราะบ่อนี้ใช้เป็น foreground ถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นและได้เงาสะท้อนสวยกว่าบ่อด้านขวา ตอนมี 2 บ่อ คนก็เยอะมากๆ แล้ว นี่ปิดไปบ่อนึงไม่อยากคิดภาพนักท่องเที่ยวไปกองรวมกันที่บ่อขวาบ่อเดียวจะล้นทะลักแค่ไหน รอบนี้ผมไม่ได้ฝืนสังขารตื่นไปถ่ายพระอาทิตย์ขึ้นเลยไม่ต้องไปเผชิญกับฝูงชนจำนวนมาก ไม่รู้ว่าเขาจะปิดนานขนาดไหนแต่ไกด์บอกว่าที่กัมพูชานี่ถ้าปิดซ่อมอะไรแล้ว น่าจะนานมากกกกกว่าจะได้เปิดใหม่

รูปล่างเป็นทางเดินเข้านครวัต ซึ่งเมื่อสองปีก่อนที่มาก็ยังสร้างอยู่ ไม่เสร็จซักที ตอนนี้ใช้สะพานชั่วคราวกันไปก่อน

สะพานชั่วคราว (รูปนี้ถ่ายเมื่อสองปีก่อน)


รูปเงาสะท้อนน้ำจากบ่อทางด้านซ้าย (ถ่ายเมื่อสองปีก่อน ก่อนที่บ่อจะปิดบูรณะ)

 

ปราสาทบายน

อีกที่นึงที่ปิดและน่าเสียดายมาก คือ ปราสาทบายน ที่นครธม เปิดให้เดินชมแค่ด้านล่าง ไม่ให้ขึ้นไปชั้นสองแล้ว (เพิ่งปิดเมื่อเดือนมกรา 2020 นี่เอง) ทำให้ไม่เห็นยอดที่มีใบหน้าได้ใกล้ๆ เหมือนแต่ก่อน น่าเสียดาย แต่ก็ยังพอมองลอดช่องเสาช่องเพดานได้ถ่ายรูปกลับมาบ้าง ก็สวยไปอีกแบบ (ส่วนจะเปิดเมื่อไรนั้น…ยังไม่มีกำหนด แต่ดูท่าจะนานครับ เพราะคงปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เลย)

มองเห็นรอยแยกของหินและการเอียงของผนังบางส่วน คาดว่าจะปิดซ่อมนานหลายปีเลย

 

ด้านล่างเป็นรูปของปราสาทบายนเมื่อสองปีก่อนที่ยังไม่ปิดซ่อม อนาคตไม่รู้จะมีการก่อนั่งร้านมาบังปราสาทภายนอกด้านบนด้วยไหม น่าเสียดายเหมือนกัน แต่เพื่อความแข็งแรงและให้โบราณสถานนี้อยู่กับลูกหลานไปนานๆ ก็ต้องอดทนรอกันหน่อย

 

 

ย้อนเวลาไปกับกล้องฟิล์ม

หลังจากสุขสบายกับการถ่ายกล้องดิจิตอลมาเป็นสิบปี อยู่ๆ ก็หันมาอยากถ่ายกล้องฟิล์มซะงั้น ครั้งนี้แบกคุณลุง Rolleiflex T อายุอานามกว่า 50 ปีมาด้วย พร้อม Sony RX1 อีกตัว ตัวนี้ได้มาสภาพดีเลยแต่ไม่รู้เขาเปลี่ยนหนังหุ้มกล้องด้วยหรือเปล่า เพราะเห็นรุ่นนี้เดิมๆ เขาเป็นหนังสีเทากัน  

จริงๆ ใช่ว่าผมจะเกิดไม่ทันกล้องฟิล์ม แต่เป็นยุคหลังๆ ของกล้องฟิล์มแล้ว ตัวที่เคยใช้นี่ของพ่อจำยี่ห้อไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่าถึงจะถ่ายฟิล์มก็ถ่ายแบบออโต้ตลอด มีวัดแสงในตัว ไม่ต้องกังวลเรื่องปรับกล้องเลย พอมาลองเจ้า Rolleiflex T นี่ เอ๋อไปเลย ลองดูรูปที่ถ่ายตอนกลางวันในที่ร่มดูสิครับ แหะๆ เอาไว้ค่อยฝึกไป สนุกดี (ถ้าไม่คิดเรื่องค่าฟิล์มกับค่าล้างฟิล์มแล้วรูปออกมาเป็นแบบนี้นะครับ 555)

เจ้า Rolleiflex T นี่เป็นกล้อง Medium format ที่ใช้ฟิล์ม 120 รูปออกมาจะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ม้วนนึงถ่ายได้ 12 รูปเท่านั้น สนนราคาก็แพงกว่าฟิล์ม 135 ทั่วไปอยู่พอตัว ใช้ระบบโฟกัสมือหมุนแบบ Rangefinder ช่วงแรกๆ ไม่ชินทำเอาโฟกัสวืดไปหลายที เพราะเคยชินกับฟีลลิ่งของกล้องดิจิตอลคือ การกดครึ่งปุ่ม-โฟกัส-แล้วก็แชะอย่างรวดเร็ว ทีนี้ต้องมาหัดค่อยๆ หมุนให้ชัดกริบ แล้วค่อยๆกดถ่าย เพราะกล้องหนัก ปุ่มกดอยู่มุมขวาล่าง ทำให้เวลากดชัตเตอร์แล้วประคองกล้องไม่ดี กล้องเลยสั่น หลายรูปจึงออกมาไม่ชัด

แต่ที่เอากล้องดิจิตอลติดมาด้วยก็เพราะไม่เชื่อในฝีมือตัวเอง ถ้าถ่ายฟิล์มล้วนๆ อาจจะไม่ได้ความทรงจำอะไรกลับไป 555 เพราะเจ้า Rolleiflex T ตัวนี้เป็นกล้องกลไกล้วนๆ ไม่มีวัดแสงในตัว ไอ้เราก็ถนัดใช้แต่โหมดออโต้ วัดแสงไม่เป็น เคยลองใช้กฎ SUNNY 16 ก็ไม่สำเร็จ ล้างออกมาดำมืดเกือบทุกรูป จะมาดูแอพวัดแสงแล้วปรับกล้องทีละรูปก็กลัวจะเดินตามไกด์ไม่ทัน เลยปรับกล้องไว้ตาม ISO และเลือกถ่ายในที่ที่แสงจ้าหน่อย แล้วเสี่ยงดวงมาลุ้นตอนล้างรูปอีกที

 

 

หากันจนเจอ

รอบก่อนมาเที่ยว เดินเที่ยวกันเอง อย่างที่บอกว่าจ้างแต่รถพร้อมคนขับ ไม่มีไกด์ เลยเดินกันสะเปะสะปะ หลายอย่างที่อ่านรีวิวมา ก็หาไม่เจอ แต่รอบนี้เจอละครับ

นางอัปสรากับรอยยิ้มพิมพ์ใจที่นครวัต

นางอัปสราแต่ละคนจะมีรูปร่าง หน้าตา เสื้อผ้าที่ไม่ซ้ำกัน แต่มีไม่กี่รูปที่ได้รับการบอกต่อกันมาว่าต้องมาดูนะ คนนึงก็คือ นางอัปสราที่แสยะยิ้ม เอ้ย ยิ้มเห็นฟัน ซึ่งมีคนเดียวในนครวัตนี้ ดูๆ ไปน่ากลัวแฮะ (อยู่ตรงเสาด้านซ้ายมือ บริเวณประตูทางออก)

 

ใกล้ๆ กันเป็นนางอัปสราที่เขาว่ายิ้มสวยที่สุดด้วย ละก็มีมือดีเอาสีมาป้ายให้ปากสีแดงจนได้

 

นางอัปสราขี้อายที่หลบอยู่หลังรากไม้ที่ปราสาทตาพรหม

ถ้าไกด์ไม่บอกนี่ไม่มีทางเห็นเลย จิ๊ดเดียว

 

รูปสลักรูปไดโนเสาร์ !!!! ที่ปราสาทตาพรหม

คือสมัยนั้นมันไม่น่ามีไดโนเสาร์แล้วไหมครับ 😳😳 เลยไม่รู้ว่านี่เป็นเพราะช่างสมัยบูรณะทำ หรือเป็นของดั้งเดิมแต่เขาสื่อไปถึงสัตว์ชนิดอื่น 

 

น้ำตาลสดกัมพูชาอร่อยมาก!!

ซื้อกินเพราะความกระหายน้ำมาก แต่พอได้ลิ้มลองไปแล้ว ต้องจัดแก้วที่สองแบบไม่ต้องคิด รสชาดต่างจากเมืองไทยอยู่บ้าง เป็นน้ำตาลโตนด ไม่หวานมากแบบของไทย และเขาใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ทำให้ได้กลิ่นของไม้ด้วย หอมและอร่อยมาก (แก้วละ 20 บาท)

 

 

เมืองเดิมกับที่ใหม่

นอกจากไปที่ซ้ำๆ เดิมๆ กับรอบก่อนแล้ว ครั้งนี้ได้มาที่ใหม่ๆ เหมือนกันครับ รอบนอกของเมืองเสียมเรียบ มีปราสาทน้อยใหญ่มากมาย เที่ยวยังไงก็ไม่หมด ไกด์เขาจัดให้เฉพาะที่น่าดู ก็ปาเข้าไปเกือบหมดวันแล้ว ที่ไหนบ้างลองไปดูกันเลยครับตามหมุดสีแดงในแผนที่ด้านล่าง (หมุดสีม่วงคือที่ที่มาซ้ำ)

 

 

Eastern Mebon (ปราสาทแม่บุญตะวันออก)

ลักษณะของปราสาทนี้จะคล้ายๆ กับปราสาทแปรรูป (Pre Rup) ตอนนั้นพวกเราเหนื่อยและร้อนกับการเดินเที่ยวที่นครวัต ไกด์เลยบอกว่าแวะที่เดียวก็ได้ เขาเลยแนะนำปราสาทนี้เนื่องจากไม่ต้องปีนบันไดสูงเท่าปราสาทแปรรูป

หินที่สร้างแตกต่างจากที่เราเห็นที่นครวัต แสดงให้เห็นถึงว่าสร้างกันคนละสมัย ตัวปราสาทใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีปราสาทบริวาร 4 องค์อยู่ด้านข้างแต่ละมุม จะเห็นประตูปราสาทในรูปด้านล่าง ซึ่งมีทั้งสี่ด้าน แต่จริงๆ แล้วเปิดได้แค่ด้านตะวันออกด้านเดียว อีกสามด้านที่เหลือเขาปิดทึบแต่สลักให้เหมือนประตู เขาคิดกันว่า ที่ไม่สร้างให้เปิดได้ทั้งหมดอาจเพื่อความแข็งแรงของปราสาท (ถ้าเปิดได้ทุกด้าน โครงสร้างอาจไม่แข็งแรงพอในการรับน้ำหนัก)

 

รูๆ ตามผนังหินนี่ เขาบอกว่าเมื่อก่อนฝังพลอยเพื่อประดับตกแต่ง

 

Neak Poan (ปราสาทนาคพัน)

ทางเดินเข้า มีร้านขายของเรียงรายต้อนรับนักท่องเที่ยว

ทะเลสาบสองข้างทางก่อนถึงบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

ปราสาทนาคพันธ์เป็นปราสาทขนาดเล็กบนฐานอิฐก่อเป็นทรงกลม บ่อนี้ล้อมรอบด้วยบ่อเล็กๆ อีก 4 บ่อ

 

Beng Mealea (เบ็งเมเลีย)

ที่นี่ใหญ่โตมาก ให้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในเมืองๆ นึงเลย ลองจินตนาการตอนที่ยังไม่พังทลายลงมานี่คงยิ่งใหญ่น่าดูเลย จริงๆ เขาน่าจะบูรณะต่อเติมให้สมบูรณ์กว่านี้น่าจะดีกว่า ตอนนี้เห็นแต่กองเสาและผนังหินกองพะเนิน แต่ฐานรากที่เหลืออยู่ก็ทำให้จินตนาการถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตได้ไม่ยาก

 

จัดได้ว่าเป็นไฮไลท์ของเสียมเรียบอีกที่นึงเลยครับ ถึงกับมีคนขนานนามที่นี่ไว้ว่า “นครวัตฝั่งตะวันออก” อย่าลืมแวะมากันครับ ที่นี่ไกด์เล่าว่าเคยใช้เป็นฐานที่มั่นของทหารเขมรแดง ทำให้พื้นที่เต็มไปด้วยระเบิด และตัวปราสาทหลายจุดก็ถูกทำลายเพราะโดนระเบิด แต่ตอนนี้เขาเก็บกู้ระเบิดไปหมดแล้ว จึงเปิดให้เราได้เข้ามาเที่ยวชมกัน

 

ศิลปะที่นี่ดูจะละเอียดกว่าที่นครวัต แต่เสียดายที่เหลือให้ดูแบบดีๆ น้อยมาก 

 

เสาหินที่ถล่มลงมากองระเกะระกะนั้นทำให้เราเห็นความฉลาดของคนสมัยก่อน เช่น หินมีรูๆ เพื่อเอาไว้ยึดกับเชือกให้ช้างลากมาได้อย่างสะดวก และหินมีการสลักเป็นข้อต่อเพื่อยึดเกี่ยวกันให้แข็งแรงและคงสภาพอยู่ได้ เป็นต้นครับ

 

ทางเดินทำอย่างดี เดินกันเพลินเลย ที่สำคัญคือร่มรื่น เดินไม่ร้อนเลย

 

Preah Ko (ปราสาทพระโค)

เป็นปราสาทแรกๆ ที่สร้างขึ้นในยุคโบราณ ประกอบด้วยปราสาท 6 หลังอยู่บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยอิฐ ที่นี่ถูกทิ้งร้างอยู่นาน ปัจจุบันมีการบูรณะแล้วหลายจุด

 

Bakong (ปราสาทบากอง)

เป็นปราสาทหินในยุคแรกๆ จำลองเป็นรูปคล้ายเขาพระสุเมรุ

 

 

เสียมเรียบมีมากกว่าที่คิด ชื่อบทความเก่าว่า “สามวันกำลังดี” สงสัย “สามวันจะไม่พอ” ละครับ

 

 

 

About Breathe My World 29 Articles
A man who love travelling the world.