ช่วยไลค์ช่วยแชร์ครับ

ตอนจะซื้อรถไฟฟ้าก็คิดว่าซื้อปุ๊บ ติดจุดชาร์จปั๊บ ขับได้สบาย ๆ เลย แต่จริง ๆ มีรายละเอียดมากกว่านี้ครับ

#รีวิว Outlander PHEV แบบคนรู้น้อยค่อยๆ เรียนรู้ไป #เขียนตามการใช้จริงลองผิดลองถูก #ผิดถูกยังไงแนะนำได้ครับ

 

คำถามคาใจตอนซื้อรถแล้ว และกำลังจะติดตัวชาร์จรถไฟฟ้าที่บ้าน

 

⁉️ ซื้อรถแล้ว นัดช่างมาติดตั้งตัวชาร์จได้เลยไหม?

✅ ยังไม่ได้ครับ ต้องตรวจสอบมิเตอร์ไฟบ้านเราก่อนว่าจ่ายไฟได้แค่ไหน เพียงพอต่อการชาร์จรถ ไปพร้อม ๆ กับใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นหรือไม่

 

 

⁉️ แล้วจะเปลี่ยนเป็นมิเตอร์อะไรดี?

✅ โดยทั่วไปที่คุ้นเคยกันก็มีขนาด 15(45), 30(100) แบบ 1 เฟสและ 3 เฟส แล้วก็ยังมีมิเตอร์แบบ TOU อีก ซึ่งบ้านที่อยู่อาศัยทั่ว ๆ ไปมิเตอร์เดิมจะเป็น 15(45) เฟสเดียว ซึ่งไฟจะไม่พอถ้าเราชาร์จรถไปด้วยใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ไปด้วย เช่น เปิดแอร์ เป่าผม ดูทีวี ฯลฯ ดังนั้นจึงแนะนำให้เปลี่ยนมิเตอร์เป็น 30(100) ซะก่อน โดยถ้าเป็น 30(100) สามารถใช้แบบ 1 เฟสก็เพียงพอ

✅ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยังมีอีกทางเลือกครับ ไม่ต้องเปลี่ยนเป็น 30(100) ก็ได้ แต่สามารถขอติดมิเตอร์ 15(45) 1 เฟสเพิ่มได้อีกตัวเลย ซึ่งผมว่าแบบนี้สะดวกดี

✅ ถ้าใครเน้นใช้ไฟเวลากลางคืนหลังสี่ทุ่มไปแล้ว ถ้าเลือกติดเป็นมิเตอร์ TOU ก็จะประหยัดไฟมากขึ้นครับ เพราะค่าไฟต่อหน่วยจะต่ำลงเกือบครึ่งนึงหลังสี่ทุ่มและวันหยุด (off peak) แต่ค่าไฟกลางวัน (on peak) ก็แพงขึ้นนะครับ ถ้ามีใช้ไฟกลางวันเยอะด้วย ผมคิดเอาเองว่า TOU อาจจะไม่คุ้ม ลองเปรียบเทียบค่าไฟตามรูปด้านล่างได้ครับ

 

 

ถ้ายังลังเลว่าเราจะเปลี่ยนเป็น TOU แล้วคุ้มไหม? (ค่ามิเตอร์ TOU ของ กฟน 6,640 บาท ก็เลยต้องคิดหน่อย กลัวติดมาแล้วไม่คุ้ม) ลองมาคำนวณเล่น ๆ กันดูก่อนครับ ก่อนอื่นเราต้องจดเลขหน่วยที่มิเตอร์บ้านเราตามช่วงเวลาก่อน โดยจดเวลา 9.00 น. และ 22.00 น. ของวันธรรมดาและวันหยุด แล้วเอามาคำนวณว่า ช่วง on peak และ off peak เราใช้ไฟไปประมาณเท่าไร (ผมลองจดดูซักช่วงละ 2 วัน แล้วเอามาเฉลี่ยเป็น หน่วยที่ใช้ในแต่ละช่วงต่อวัน แล้วคูณจำนวนวันในเดือนนั้น ๆ ให้เป็นอัตราการใช้ไฟต่อเดือน สมมติให้มีวันธรรมดา 22 วัน และ วันหยุด 8 วัน ข้อมูลดังตารางในรูปครับ) โดยรวมหน่วยที่ใช้ชาร์จรถไว้ในช่วง off peak (คือเราต้องชาร์จรถหลังสี่ทุ่มนั่นเอง) แล้วเอาข้อมูลไปกรอกในแบบคำนวณของ กฟน. ตาม ลิงค์นี้ เลยครับ ผลออกมาดังรูป (ของ Outlander PHEV แบตขนาด 13.8 kWh สมมติชาร์จทุกวัน ก็ตก 414 หน่วยต่อเดือน)

 

สรุปว่าถ้าได้ตามนี้จริง จะประหยัดไปเกือบ ๆ หนึ่งพันบาทต่อเดือน! ถ้างั้น ไม่เกินปี คุ้มทุนที่เปลี่ยนมิเตอร์ เลยทำให้เปลี่ยนใจมาติดมิเตอร์ TOU ดีกว่า

 

⁉️ แล้วการชาร์จรถไฟฟ้ามีกี่แบบ?

✅ มีทั้งหมด 4 โหมดด้วยกัน ตามรูปที่อธิบายด้านล่างครับ แต่ที่เราจะต้องตัดสินใจคือ จะใช้โหมดที่ 2 หรือ 3 สรุปง่าย ๆ ถ้าใช้โหมด 2 เราก็ใช้สายชาร์จฉุกเฉินที่มิตซูแถมมาให้กับตัวรถได้ แล้วติดตั้งเต้ารับอุตสาหกรรมที่บ้านเอา ถ้าเลือกโหมด 3 ก็ซื้อ wall charger มาติดตั้ง

 

 

⁉️ จะเลือกติดเป็นเต้ารับอุตสาหกรรม หรือ wall charger ติดผนังดี?

 

 

✅ ตอนซื้อรถ มิตซูแถมค่าติดตั้งมาให้ 20,000 บาท ทีนี้ ถ้าติดแบบเต้ารับอุตสาหกรรม แล้วใช้สายชาร์จฉุกเฉินที่รถแถมมาให้ก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม เพราะปกติแล้วจากที่ถามหลาย ๆ บริษัท ค่าติดตั้งเต้ารับเฉย ๆ จะประมาณ 6,000-10,000 บาท ถ้าใช้โปรมิตซูก็เลยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม (แต่!!! ไม่รวมค่าติดตั้งตู้เมนใหม่กับเดินสายเมนใหม่จากมิเตอร์นะครับ

แต่ถ้าจะติด wall charger ราคาก็แล้วแต่ยี่ห้อหรือรุ่น แต่ไม่ต่ำกว่า 40,000 แน่ ๆ (ถ้าใช้โปรมิตซู ตอนนี้ถูกสุดจะเป็นรุ่น Wallbox Pulsar Plus ราคาเต็ม 53,000 บาท หักลบแล้วก็จ่ายค่าตู้รวมค่าติดตั้งเพิ่ม 33,000 บาท) งั้นเรามาลองเปรียบเทียบกันดูระหว่าง 2 อย่างนี้ครับ

 

เปรียบเทียบการใช้สายชาร์จฉุกเฉินกับเต้ารับธรรมดา กับ การติด Wall charger

ความสวยงาม

Wall charger ต้องสวยกว่า อยู่แล้ว

ราคา

เต้ารับจะถูกกว่า (ติดตั้งราคาไม่เกินหมื่น) ส่วน wall charger ขึ้นกับยี่ห้อ แต่ส่วนใหญ่ 40,000 ขึ้นไป (กรณีไม่หักส่วนลด)

ความเร็วในการชาร์จ

เท่ากัน เนื่องจากความเร็วในการชาร์จนั้นนอกจากจะขึ้นกับตัวชาร์จแล้ว ยังขึ้นกับ on-board charger ของรถเราด้วยครับ อย่าง Outlander PHEV นี่ได้ 3.7 kW ถึงแม้จะติด Wall charger ที่จ่ายไฟได้ถึง 22 kW ตอนชาร์จจริงก็จะจ่ายได้แค่ 3.7 kW เท่านั้น ดังนั้นเวลาชาร์จจึงเท่ากันกับการชาร์จผ่านเต้ารับ คือ ประมาณ 4 ชั่วโมง

ความปลอดภัย

เมื่อก่อน เขาว่าถ้าชาร์จที่บ้านแบบเสียบปลั๊กหรือเต้ารับ (โหมด 2) โดยใช้สายฉุกเฉินที่ติดมากับรถจะอันตรายทั้งต่อแบตเตอรี่รถและบ้านของเรา แต่ ปัจจุบันมีความปลอดภัย โดยต้องมีเงื่อนไขต่อไปนี้

• ใช้สายที่มี in-cable control box เพื่อควบคุมกระแสไฟ ไม่แนะนำให้ใช้สายที่ไม่มี control box (โหมด 1)
• ต้องมี เบรกเกอร์แยก, สายดิน และ อุปกรณ์กันไฟรั่ว (type B เท่านั้น! นะครับ*) เสมอ
ใช้ปลั๊กหรือเต้ารับให้เหมาะสม โดยตรวจสอบสายชาร์จรถของเราว่าใช้กระแสไฟเท่าไร เช่น ใช้สาย 16A (แบบที่มิตซูแถมมา) แต่ดันไปเสียบปลั๊กธรรมดาซึ่งจ่ายไฟสูงสุดได้แค่ 10A ถ้าเสียบทิ้งไว้นาน ๆ หรือค้างคืนจะทำให้ปลั๊กไหม้และเป็นอันตรายได้ กรณีนี้ต้องเปลี่ยนสายปลั๊กไฟของบ้านให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและปรึกษาช่างไฟฟ้าให้มาตรวจสอบก่อนใช้งานด้วยครับ บางท่านใช้วิธีซื้ออุปกรณ์ตั้งเวลาเพื่อตัดไฟมาต่อเพิ่มเติม ก็ทำให้มั่นใจเพิ่มขึ้นอีกครับ
 

ชาร์จไว้ทั้งคืน จะได้ไหม

Wall charger จะเสียบทิ้งไว้ทั้งคืนได้อย่างปลอดภัย เพราะพอไฟเต็ม จะ ตัดไฟอัตโนมัติ ไม่มีการส่งกระแสไฟต่อ

• ส่วนการชาร์จผ่านเต้ารับ ทางศูนย์แจ้งว่าจะมีการตัดไฟเข้ารถให้ถ้าไฟเต็มแล้ว (ส่วนนี้ไม่แน่ใจว่า control box เป็นตัวตัดไฟหรือรถจะตัดไฟให้เองอัตโนมัติ) แต่ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ปลอดภัยครับ และอย่าลืมว่าปลั๊กหรือเต้ารับต้องได้มาตรฐานจ่ายกระแสไฟได้สูงเพียงพอกับสายชาร์จของรถด้วย ไม่งั้นถ้าเสียบไว้ทั้งคืนปลั๊กอาจจะร้อนและไหม้ได้! อย่างที่กล่าวไปในหัวข้อความปลอดภัย

การเข้าถึงข้อมูลการชาร์จ

Wall charger ก็จะง่ายกว่า เพราะมีระบบ Wifi หรือ Bluetooth (ขึ้นกับสเปค) ทำให้เรารู้ข้อมูลหรือจัดการการชาร์จได้สะดวก ส่วนของเต้ารับจะต้องติดมิเตอร์แยกหรือมีอุปกรณ์แยกถึงจะดูหน่วยไฟที่เราใช้ได้

*หมายเหตุ: ที่ระบุว่าต้องใช้อุปกรณ์กันไฟรั่ว Type B เท่านั้นนี่ – ในกรณีที่เราติดตู้ชาร์จที่ในตู้มีอุปกรณ์กันไฟ DC รั่วอยู่แล้ว (เช่นของ Wallbox Pulsar Plus) เราสามารถใช้อุปกรณ์กันไฟรั่ว Type A ได้ครับ

.

⁉️ ขั้นตอนการติดต่อและติดตั้งจุดชาร์จ ต้องทำยังไงบ้าง?

✅ คำถามนี้แหละครับปวดหัวมาก ถ้าเราติดต่อบริษัทมาติดให้เขาจะดำเนินการให้ทุกอย่างตั้งแต่ติดต่อการไฟฟ้าเปลี่ยนมิเตอร์ไปจนถึงมาติดตั้งเสร็จ เราก็จะไม่ปวดหัว แต่กรณีผมติดปัญหาตรงที่ว่าถ้าติดต่อบริษัทเอง มันจะไม่ครอบคลุมกับโปร 20,000 ที่มิตซูแถมมา ดังนั้น เราก็ต้องติดต่อการไฟฟ้าเอง ทีนี้ใครจะมาทำอะไรก่อนเนี่ย…สรุปกรณีของผมได้ทำตามขั้นตอนนี้ครับ 

1. ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนมิเตอร์ กับการไฟฟ้านครหลวงทางออนไลน์ สะดวกดีครับ กดเข้าลิงค์ และเลือกเมนู “ขอเพิ่มหรือลดขนาดการใช้ไฟฟ้า” แล้วกรอกข้อมูล ส่งหลักฐานตามที่เขาแจ้ง ก็จะได้อีเมลตอบกลับ และใบแจ้งชำระค่าธรรมเนียม 700 บาท (กรณีผมดำเนินการกับการไฟฟ้านครหลวงเพราะอยู่พื้นที่กรุงเทพ แต่ถ้าพื้นที่อื่นนอกเหนือความรับผิดชอบของ กฟน ก็ติดต่อกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ครับ)

2. ถ้าเกินอาทิตย์แล้วยังไม่ได้อีเมลเรื่องค่าธรรมเนียม หรือว่าจ่ายค่าธรรมเนียมแล้วเงียบไป ให้ลองโทรถาม 1130 ดูครับ เขาจะประสานกับช่างไฟฟ้าในเขตที่รับผิดชอบให้โทรมาหาเราอีกที

3. ติดต่อบริษัท ที่จะมาติดจุดชาร์จ (จะเป็น บริษัท Prime กรณีติดเต้ารับอุตสาหกรรม หรือ EGAT กรณีติด Wallbox) เพื่อยืนยันขั้นตอน และนัดวันติดตั้ง โดยเบื้องต้นศูนย์มิตซูจะเป็นคนประสานให้ก่อนครับ แต่หลังจากนั้นเราจะเป็นคนติดต่อเดินเรื่องต่อกับบริษัทหรือ EGAT เอง 

4. หาช่างมาทำการ เดินสายเมนใหม่เข้ากับตู้ Main circuit breaker ให้เรียบร้อยก่อน ถ้าบริษัทที่จะมาติดตู้ชาร์จรับทำขั้นตอนนี้ให้เลยจะสะดวกมาก (ราคาก็แล้วแต่ตกลงกันเอง) โดยขั้นตอนการเดินสายเมนใหม่ของ กฟน. เท่าที่เข้าใจมีได้ 2 แบบ (อ่านเพิ่มที่ลิงค์นี้) คือ

4.1 ใช้ Main circuit breaker ตัวเดียว ซึ่งอาจจะใช้ตู้เดิมได้กรณีที่แอมป์พอและมีช่องเหลือ แต่ถ้าไม่มีช่องเหลือก็ต้องเปลี่ยนตู้ใหม่ โดยวงจรของไฟฟ้าในบ้านและจุดชาร์จจะออกจากตู้เดียวกันนี้ ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนตู้ใหม่ สายไฟวงจรในบ้านเดิมก็ต้องลากมาเข้าตู้ใหม่นี้ด้วย

4.2 เพิ่ม Main circuit breaker อีกตัว เอาไว้ที่โรงรถเลย ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกกว่าเพราะเราไม่ต้องยุ่งกับตู้เดิมและสายไฟในบ้านเลย แต่ตู้เดิมและตู้ใหม่ แอมป์รวมกันต้องไม่เกิน 100A ครับ

 

 

5. โทรนัดช่างของ กฟน. เพื่อมาสำรวจมาตรฐาน และเปลี่ยนมิเตอร์ให้

6. ถ้าในขั้นตอนที่ 4 ยังไม่ได้ติดเต้ารับหรือตู้ชาร์จ พอถึงขั้นตอนนี้ก็ติดต่อให้เขามาติดได้เลยครับ

7. ผมลองสรุปการติดตั้งเต้ารับหรือ Wall charger และความรับผิดชอบของ Prime และ EGAT ตามตารางด้านล่างครับ

 

หน่วยงานที่รับผิดชอบและค่าใช้จ่าย (**ข้อมูลนี้เป็นของปี 2564)

คำถาม

EGAT

Prime

อุปกรณ์ที่ติดตั้ง

Wallbox

Industrial socket

ราคาตู้หรือเต้ารับ (รวมติดตั้ง)

รุ่น Pulsar Plus 53,000 บาท (หักส่วนลดจากมิตซูเหลือ 33,000 บาท)

ปกติราคาประมาณ 9,800 บาท (หักส่วนลดจากมิตซู ได้ทั้งหมด)

ใครรับผิดชอบติดตู้เมนใหม่และเดินสายเมนใหม่จากมิเตอร์ให้

EGAT ทำให้เลย (มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม คือ ค่าสายไฟตามด้านล่าง)

ลูกค้าหาเอง (ค่าติดตั้งตู้เมน/ค่าสายเมนใหม่นี้ ไม่รวมในโปรมิตซู นะครับ)

ราคาการเดินสายเมนจากมิเตอร์และติดตู้เมนใหม่

• มีโปรโมชั่นเดินสาย (ขนาด 16 ตร.มม.) 10 เมตร ราคา 2,600 บาท
• โปรเดินสาย (ขนาด 16 ตร.มม.) 20 เมตร ราคา 4,500 บาท
• ส่วนเกินจากด้านบน 250 บาทต่อเมตร

• ขึ้นกับบริษัทที่หาได้

• เท่าที่เห็นข้อมูลจากท่านอื่น เขาคิดกันอยู่ประมาณ 10,000-30,000 บาท 😳 ขึ้นกับบริษัทและอุปกรณ์ที่ใช้ครับ

ใครเปลี่ยนมิเตอร์ให้

• การไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

• ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนมิเตอร์ 15(45) เป็น 30(100) ของ กฟน. ทั้งหมด 700 บาท

จะเปลี่ยนมิเตอร์ก่อนหรือเดินสายเมนก่อน

สรุปขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ ครับ
• เดินสายเมนและติดตู้เมนใหม่ก่อน (ขั้นตอนนี้ จะติดตู้หรือเต้ารับไปพร้อม ๆ กันเลยก็ได้ ถ้าบริษัทที่มาติดเป็นคนเดียวกัน จะช่วยประหยัดเวลาและขั้นตอน)
• แจ้ง กฟน. มาตรวจสอบมาตรฐานและเปลี่ยนมิเตอร์ให้
• แจ้งบริษัทเข้ามาติดเต้ารับ หรือ Wall charger

ตอนที่ผมงุนงงหาข้อมูลอยู่ มาเห็นรูปนี้ของ EGAT เลยถึงบางอ้อ คือ ถ้าเราติด Wallbox  EGAT จะรับผิดชอบในกรอบเส้นประสีเหลืองทั้ง 2 กรอบ นอกนั้นจะเป็นการไฟฟ้านครหลวงรับผิดชอบ (ง่าย ๆ คือ กฟน. จะมีหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานและเปลี่ยนมิเตอร์ให้เท่านั้น ไม่ได้เดินสายเมนใหม่ให้) แต่ถ้าติดเต้ารับอุตสาหกรรม โปรของมิตซูจะครอบคลุมเฉพาะกรอบเส้นประสีเหลืองด้านซ้ายเท่านั้น ในกรอบด้านขวาเราต้องหาช่างมาติดเองและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มครับ

 

 

⁉️ งั้นสรุปแล้ว ผมติดอะไร แบบไหน และเสียเงินไปทั้งหมดเท่าไร?

ตอนแรกตั้งใจจะติดแค่เต้ารับ ครับ เพราะ “คิดว่า” ไม่ต้องเสียค่าอะไรเพิ่มเลยนอกจากค่าสายไฟถ้าความยาวเกิน แต่พอหาข้อมูลไปมา พบว่าคิดแบบนั้นไม่ถูกซะทั้งหมด เหมือนที่อธิบายไปข้างบนแล้วว่าโปรของมิตซูจะรวมแค่ติดเต้ารับให้เท่านั้น แต่การติดตู้เมนใหม่และเดินสายเมนใหม่จากมิเตอร์ เราต้องจ่ายเองทั้งหมดและหาช่างเอง (ซึ่งเป็นใครก็ได้ อาจให้ Prime ทำเลยก็ได้ หรือเป็นช่างของ กฟน ก็ได้) โดยค่าใช้จ่ายจากที่ดูท่านอื่น ๆ ติดมา อยู่ประมาณ 10,000-30,000 บาท 😳

✅ เลยได้เวลาคิดใหม่ 🤣 ถ้าติด Wallbox ลดได้ 20,000 แต่ EGAT จะเดินสายเมนใหม่ให้เสร็จเลย คิดเหมาสายไฟ 20 เมตร+ติดตั้ง 4,500 บาท! บวกลบคูณหาร คิดส่วนต่างและฟังก์ชันการใช้งานต่าง ๆ แล้ว เลยเปลี่ยนใจมาติด Wallbox ดีกว่า

✅ ส่วนการเดินสายเมนใหม่, EGAT จะทำการติดตู้เมนใหม่ (40A) และเดินสายเมนแยกจากวงจรบ้านเดิมให้เลย ทำให้ไม่ต้องวุ่นวายกับตู้เดิมและสายไฟของวงจรเดิมในบ้าน โดยช่างที่ดีลกับ EGAT คือ EasyCharge

 

เนื่องจากที่จอดรถอยู่ห่างจากผนังบ้านพอควร ตอนแรกจะติด Wallbox ที่ผนังบ้าน แต่เวลาชาร์จสายต้องลากมาค่อนข้างไกลและตรงกลางไม่มีหลังคาคลุม (เพราะโรงรถไม่มีผนังและ ตัว Wallbox ไม่น่ายึดกับเสากลม ๆ ได้ จะซื้อเสาแยกที่เขาขายแบบสำเร็จก็แพง 6,000-10,000 บาทแน่ะ) เลยลองถามช่างดู เขาบอกว่าทาง EasyCharge ก็รับทำตัวยึดเพิ่มเติมด้วย 😁 ที่สำคัญราคาไม่แพง (เร็วด้วยครับ 2 วันเสร็จ ติดตั้งได้เลย)

 

 

ตัวยึดแบบเหล็กที่เขารับทำมี 2 แบบ คือ เป็น plate ยึดติดกับตัวเสา (ประมาณ 600 บาท) หรือทำเป็นเสาเหล็กแยกต่างหากเลือกความสูงได้ (ประมาณ 2,700 บาท) สั่งทำแค่ 2 วันก็เรียบร้อยพร้อมติดตั้งแล้ว (ของผมทำแบบเสาเหล็กตามรูปครับ)

 

💰 ลองมาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ กันครับ 💰

รายการ

ผมติด Wallbox Pulsar Plus

สมมติว่าติด Industrial socket

ค่าธรรมเนียมเพิ่มไฟมิเตอร์เป็น 30(100) เป็นอัตราของ กฟน ครับ

700 (ถ้าขอ TOU ก็เพิ่มอีก 6,640 บาท)

700 (ถ้าขอ TOU ก็เพิ่มอีก 6,640 บาท)

จุดชาร์จ

53,000 – 20,000 = 33,000

0

ติดตั้งตู้เมนใหม่และเดินสายเมนใหม่

4,500 (สายไฟ 20 เมตร)

10,000-30,000 (แล้วแต่ว่าจ้าง)

ค่าทำเสาเพิ่มเพื่อยึดตู้ชาร์จ (โรงรถไม่มีผนังให้ติด แต่ถ้ามีผนังให้ติดอยู่แล้วก็ไม่ต้องเสียเงินส่วนนี้)

2,700

2,700

ราคารวม

40,900

~23,400

**ค่าใช้จ่ายข้างต้นจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยอื่น ๆ เช่น ชนิดของมิเตอร์ที่เปลี่ยน, ค่าติดตั้งตู้เมนใหม่, วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้, ยี่ห้อของ Wall charger, โปรโมชั่นต่าง ๆ หรือราคาที่อาจจะลดลงในอนาคต (รีวิวนี้ตอนปี 2564) 

 

⁉️ คำถามสุดท้าย หลังจากติดจุดชาร์จแล้ว ประหยัดจริงไหม?

จริงครับ! ที่ผมเคย รีวิววิ่งแบบไม่มีไฟ จะได้อัตราสิ้นเปลืองประมาณ 12.1 กิโล/ลิตร คิดเป็นประมาณ 2.3 บาทต่อกิโล แต่ตอนวิ่งโดยใช้ไฟฟ้าเพียว ๆ นี่คำนวณได้ประมาณ 0.9-1.1 บาท/กิโล (คิดค่าไฟต่อหน่วยเท่ากับ 4 บาทโดยประมาณ และดูอัตราการใช้ไฟจาก OBD2 และแอพ PHEV Watchdog) รวมข้อมูลไว้ใน ลิงค์นี้ ครับ

 

 

⁉️ ถ้าจุดประสงค์ที่เลือก PHEV เพราะอยากประหยัด ใช้เวลากี่ปีถึงจะคุ้มทุน?

✅ ตอบว่าไม่ทราบเหมือนกันครับ เพราะต้องใช้หลายปัจจัยมาคิดทั้งราคารถ ค่าไฟ ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน ฯลฯ ของผมค่าน้ำมันรวมค่าไฟต่อเดือนน่าจะลดลงได้ 50%, เข้าศูนย์เช็คระยะแค่ปีละครั้ง, ประกันแบตเตอรี่ 10 ปี ก็ถือว่าพอใจมากครับ คุ้มไม่คุ้มไม่รู้แหละ (ถ้ามันไม่มีอะไรพังหรือเสียก่อนเวลาอันควรนะครับ อันนี้คาดเดาไม่ได้) 

✅ แต่ทำใจรับราคาประกันไว้ด้วยครับ ได้ยินราคาประกันชั้นหนึ่งแล้วเหงื่อตกเลย ปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 โชคดีที่ตอนซื้อรถได้โปรฟรีประกัน 3 ปี 😍

 

สรุปรีวิวการใช้งานพื้นฐาน จากประสบการณ์จริงก็เป็นไปตาม EP. 1-6 นี้ครับ หวังว่าคงมีประโยชน์ในการตัดสินใจกับหลาย ๆ คนบ้างครับ

.

ลิงค์บทความที่เกี่ยวข้อง