พิกัดรองในเมืองหลัก (Ep. 3) : เกาะคุกอัลคาทราซ

ช่วยไลค์ช่วยแชร์ครับ

#ขุดทริปเก่าเอามาเล่าใหม่ (ปี 2014-2015)

อย่าปฏิเสธการมาเยือนเกาะนี้ แค่เหตุผลเพราะว่ามันคือ “คุก”

 

 

ผมมาที่เกาะนี้ 3 ครั้งด้วยกัน รอบแรกมาคนเดียวเพราะชวนใครก็ไม่มีใครมาด้วยเหตุผลที่ว่า “คุก” มันน่ากลัว คงไม่มีอะไรน่าดู แต่จริง ๆ ไม่ใช่ครับ ถ้าพูดถึงวิว วิวเกาะและรอบ ๆ เกาะนี่สวยเลยครับ ถ้าพูดถึงเรื่องราวในอดีต ที่นี่ก็มีสิ่งที่ให้ได้เรียนรู้เยอะเหมือนกัน แถมออดิโอทัวร์เขาก็ทำได้ดีมากด้วย ดังนั้น ถ้าใครไม่อยากมาเพราะมันเป็น “คุก” ให้เปลี่ยนใจได้เลยครับ

 

เกาะอัลคาทราซ (Alcatraz)

🚓 มีอีกชื่อเรียกว่า “The Rock” เพราะโด่งดังมาจากการใช้เป็นสถานที่ถ่ายหนังเรื่อง The Rock แล้วก็ยังมีหนังและซีรีย์อื่นตามมาอีกหลายเรื่อง เช่น Escape from Alcatraz และ Alcatraz เรื่องหลังนี่เคยดูแล้วชอบมาก แต่เสียดายไม่ได้ทำ season 2 ต่อแล้ว

🚓 เกาะนี้อยู่ในพื้นที่ของเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา อยู่ห่างจากชายฝั่งออกไปประมาณ 1.5 ไมล์

🚓 เดิมเกาะนี้ใช้เป็น “คุก” คุมขังนักโทษ เปิดทำการอย่างเป็นทางการระหว่างปี 1934-1963 ซึ่งขึ้นชื่อได้ว่าเป็นคุกที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดในโลกของสมัยนั้น  อีกทั้งสภาพภูมิประเทศโดยรอบเป็นทะเลถึงแม้จะไม่ไกลจากฝั่งมาก แต่ลมแรง คลื่นแรงแถมน้ำยังเย็นยะเยือกอีกต่างหาก ถึงจะหนีลงน้ำได้ แต่ก็คงว่ายไปไม่ถึงฝั่งจนมีการเปรียบเปรยว่า “มีแต่นกเท่านั้นที่สามารถบินเข้าออกเกาะนี้ได้”

🚓 คุกนี้ปิดทำการลงในปี 1963 เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณในการบำรุงรักษาและตัวอาคารที่เสื่อมสภาพลงตามสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ

🚓 ตลอดระยะเวลาที่เปิดทำการนั้นมีนักโทษจำนวนทั้งสิ้น 1,545 คน ห้องขังที่นี่มีทั้งหมด 302 ห้อง แต่ไม่เคยเต็ม จำนวนนักโทษที่มากที่สุดในแต่ละช่วงเวลามีประมาณ 260 คน โดยนักโทษที่ถูกพามาขังที่นี่เป็นผู้ชายทั้งหมด และเป็นนักโทษอันตราย มีโอกาสหนีสูง

🚓 ถึงจะขึ้นชื่อว่าปลอดภัยที่สุด แต่ก็มีการพยายามหลบหนี 14 ครั้ง (36 คน) ในจำนวนนั้นส่วนใหญ่ถูกจับได้หรือยิงเสียชีวิต แต่มี 3 คนที่สามารถว่ายน้ำหนีไปได้ แต่ก็ไม่มีใครพบอีกเลยแม้กระทั่งศพ

 

วิวยามเย็นถ่ายจากสะพานโกลเด้นเกท

 

ความเห็นส่วนตัวเสน่ห์ดึงดูดของเกาะนี้ที่ทำให้อยากมา น่าจะเป็นเพราะ

  • เรื่องราวประวัติความเป็นมาของคุก การเป็นคุกที่ชื่อว่ามีระบบรักษาความปลอดภัยสูงที่สุดในสมัยนั้น (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ลิงค์นี้ ครับ ละเอียดมาก) 
  • เรื่องราวประวิติของชาวอินเดียนแดงที่เข้ามายึดเกาะเป็นที่อยู่อาศัยอยู่ช่วงหนึ่งหลังจากที่คุกถูกปิดลง
  • สภาพภูมิประเทศที่สวยงาม ทั้งตัวเกาะและวิวทิวทัศน์รอบๆ
  • สิ่งมีชีวิตบนเกาะ ทั้งต้นไม้ ดอกไม้ที่มีหลายหลายพันธุ์ สัตว์ที่อาศัยอยู่บนเกาะซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกนกทะเล

 

 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

 

แนะนำให้ซื้อตั๋วมาก่อน!!

⛴  โอกาสจะมาซื้อตั๋วที่หน้างานแล้วได้รอบเรือนี่ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมักจะเต็มครับ เขาจะมีป้ายบอกที่ช่องขายตั๋วว่า ตั๋วรอบถัดไปว่างเมื่อไร ซึ่งที่เคยเห็นก็ถัดไป 3-4 วันแน่ะ

 

 

⛴  เข้าไปซื้อตั๋วล่วงหน้าได้ที่ ลิงค์นี้ ครับ ควรซื้อก่อนอย่างน้อย 1 สัปดาห์นะครับ เพราะเต็มเร็ว ถ้าซื้อแล้ว ให้พิมพ์ตั๋วออกมาด้วยก็ดี ถ้าไม่ได้พิมพ์ไว้ วันที่นัดต้องมารับตั๋วที่ช่องขายตั๋วก่อนลงเรือด้วยครับ

⛴  ราคาตั๋ว day tour ตอนนู้น 30 USD แต่ตอนนี้ (2020) ขึ้นไปเป็น 39.9 USD ละ

⛴  มีหลายทัวร์ให้เลือกครับ ทั้ง day tour (ทัวร์ปกติ), night tour, early bird tour ราคาและเวลาก็แตกต่างกันไป

 

ราคาตอนปี 2020

 

การเดินทาง

⛴  แน่นอนว่าเราต้องขึ้นเรือไปครับ ท่าเรือจะอยู่ที่ Pier 33 บนถนน Embarcadero

⛴  การเดินทางมาที่ท่าเรือ แนะนำรถสาธารณะ (หาที่จอดรถยากมากและแพง) ซึ่งมีรถเมล์สายเดียวที่วิ่งบนถนนเส้นนี้ คือ Historic Street Car (MUNI สาย F) มาลงตรงป้าย Embarcadero and Bay Street ซึ่งรถสายนี้จะมีรูปร่างหน้าตาแปลกไปจากรถเมล์สายอื่น ๆ ครับ เขาจะอนุรักษ์ให้มีหน้าตาแบบรถเมล์ยุคเก่าที่เขาใช้กันที่นี่

 

Historic street car

 

ก่อนขึ้นเรือ

ระหว่างรอรอบเรือ บริเวณใกล้ๆ ก็มีแบบจำลองเกาะให้ดูคร่าวๆ ว่าบนเกาะมีอาคารอะไรบ้าง อยู่ตรงไหนพร้อมประวัติย่อๆ

 

 

ระหว่างนั่งเรือก็ได้ชมวิวสวยๆ ของฝั่ง downtown ซานฟรานซิสโก

วิวท่าเรือ Pier 33

วิวเมืองมองจากทะเลนี่มันสวยจริงๆ เพราะลักษณะภูมิประเทศของซานฟรานจะเป็นเนินทำให้ภาพตึกรามบ้านช่องมีสูง ๆ ต่ำ ๆ ลดหลั่นกันไป

ตึก Transamerica Pyramid และ Coit Tower

 

วิวในวันท้องฟ้าสดใสไร้หมอก (กันยายน 2014)

 

เทียบกับวิวในวันท้องฟ้าที่มีหมอกจางๆ ลอยต่ำ (มกราคม 2015) ก็สวยงามไปอีกแบบ (แต่ถ้าวันที่มีหมอกหนา ก็จะไม่เห็นอะไรเลย…ซานฟรานเป็นเมืองแห่งหมอก ต้องลุ้นเอาแล้วแต่ดวงครับ ว่าอากาศจะดีไหม)

 

วิวเกาะกับสะพาน Golden Gate

 

 

เข้าคุกกันเถอะ

 

ใช้เวลานั่งเรือมาประมาณ 15 นาที เราก็มาถึงเกาะ

แผนที่เกาะ



เมื่อลงเรือก็จะมีการแนะนำการเที่ยวบนเกาะคร่าวๆ โดยเจ้าหน้าที่ที่ด้านหน้าของ Barracks/Apartments (จุดสีชมพูในแผนที่) ตรงอาคารด้านหน้าเราจะเห็นร่องรอยตัวหนังสือเดิม ๆ ที่เกิดจากชาวอินเดียนแดงที่มายึดครองเกาะหลังจากที่คุกถูกปิดไป



เสร็จจากตรงนี้เราก็เข้าอาคารที่ชื่อ Barracks/Apartments (จุดสีน้ำเงินในแผนที่) ซึ่งเป็นอาคารที่อยู่ด้านหน้าก่อน ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ และมีภาพยนตร์สั้น ๆ ให้ชมบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของเกาะและคุกนี้ ในนี้ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที บนเกาะแห่งนี้ไม่ได้มีแค่เรือนจำเท่านั้น แต่ยังมีบ้านพักของครอบครัวของผู้คุมขังและเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย เป็นเหมือนสังคมหรือหมู่บ้านย่อยๆ แห่งหนึ่งเลยทีเดียว และมีเรื่องเล่ากันมาว่าเนื่องจากระบบความปลอดภัยที่ดีมาก บ้านแต่ละหลังแทบไม่ต้องล็อคประตูเลยทีเดียว

 

 

ดูภาพยนตร์แนะนำสั้นๆ ของ Discover Channel

จากนั้นก็เดินออกไปยังตึกหลักของเกาะ นั่นก็คือ คุกหรือส่วนคุมขังนักโทษ (Cellhouse; จุดสีแดงในแผนที่ข้างบน)  เข้าไปถึงจะมีจุดรับเครื่องฟัง (Cellhouse Audio Tour) (ไม่เสียเงินเพิ่ม แต่ใน website ของเกาะบอกว่าถ้าไม่เอา audio tour สามารถขอคืนเงินส่วนหนึ่งได้ที่ทางเข้าแต่ไม่รู้เหมือนกันว่าเท่าไร) ซึ่ง audio tour ระยะเวลา 45 นาทีของ Alcatraz นี้จะเป็นตัวนำเราเดินดูตามจุดต่าง ๆ และบอกเรื่องราวที่สำคัญ ๆ ทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว แนะนำว่าต้องฟังครับ



ทางเข้าหลัก

 

จุดรับ audio tour อยู่บริเวณทางเข้าซึ่งจะผ่าน ห้องซักรีด และห้องอาบน้ำ จากนั้นก็เดินขึ้นบันได และเริ่มทัวร์ได้เลยครับ

 

 

ภายในส่วนคุมขังนั้น มีทั้งหมด 4 block ด้วยกัน คือ A block, B block, C block, และ D block ถนนระหว่าง block ตั้งชื่อตามถนนชื่อดังในอเมริกา คือ Broadway Ave และ Michigan Ave ตัวคุกมีทั้งหมด 3 ชั้น มีระบบเปิดปิดประตูห้องขังโดยระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีการแสดงการเปิดประตูวันละครั้ง (แต่ผมไม่เคยดูเพราะไม่ได้ไปตรงเวลาที่เขาแสดง)

แผนผังคุก

คนบรรยาย audio tour นี้ บางช่วงจะเล่าโดยผู้คุมหรือนักโทษที่เคยถูกขังอยู่ในคุกแห่งนี้ ทำให้ได้บรรยากาศหดหู่ไปอีก

 

สภาพห้องขัง

ที่นี่ดูเหมือนจะเป็นส่วนตัวดี อยู่แบบขังเดี่ยว สำหรับผู้ที่เข้ามาใหม่จะมีหนังสือแนะนำกฎและการปฏิบัติตัววางให้ด้วย

 

 

นักโทษที่มีพฤติกรรมดี สามารถมีกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ ในห้องขังได้ เช่น งานศิลปะ หรือเล่นดนตรี และห้องขังในกลุ่มนี้จะอยู่ตรงข้ามกับหน้าต่างซึ่งมีแสงสว่างส่องถึง ซึ่งน่าจะทำให้สภาพจิตใจดีขึ้นด้วย (มั้ง)

 

 

นักโทษที่นี่ไม่ได้อยู่แต่ในห้องอับ ๆ ทั้งวัน ที่นี่มีลานกีฬา ซึ่งสามารถเห็นวิวเมืองซานฟรานซิสโก เหมือนเห็นอิสรภาพอยู่ตรงหน้าแต่ไม่สามารถไปถึงได้…(แต่ก็เป็นวิวที่สวยทีเดียว)

 

 

สามารถเดินขึ้นมายังจุดนี้ได้จากทาง Historic garden ทางด้านล่างได้เช่นกัน

 

นักโทษร้ายแรงหรือนักโทษที่จำเป็นต้องขังแยก จะถูกพามาอยู่ในโซน D block โดยนักโทษในโซนนี้จะออกไปอาบน้ำหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ข้างนอกได้สัปดาห์ละครั้ง ตัวอย่างนักโทษร้ายแรงที่โด่งดัง ก็เช่น Al Capone, Doc Barker, Alvin Karpis, George Kelly, Floyd Hamilton, และ Robert Stroud (ฉายา Birdman of Alcatraz)

 

 

ห้องขังแยก

มีประตูสองชั้น พอปิดประตูชั้นนอก ภายในจะมืดสนิทคงทรมานน่าดู มีให้ลองเข้าไปอยู่แล้วมีเจ้าหน้าที่คอยปิดประตูด้วยนะครับ

 

ส่วนอื่น ๆ ของคุก

สถานพยาบาล

ทำให้ไม่ต้องพานักโทษที่ป่วยออกไปจากเกาะ

 

ห้องพักในสถานพยาบาลของนาย Robert Stroud หรือ Birdman of Alcatraz หนึ่งในนักโทษคนรู้จัก

 

ห้องสมุด

 

ห้องครัวและห้องกินข้าว

เขาถือว่าเป็นห้องที่อันตรายที่สุดในคุกนี้ เพราะนักโทษจะมีทั้งช้อน ส้อม และอยู่ใกล้กับมีด ที่สามารถนำมาเป็นอาวุธหรืออุปกรณ์ในการหลบหนีได้ ที่วางมีดเขาเลยต้องมีการวาดรูปโครงมีดไว้ จะได้รู้ได้ง่ายๆ ว่ามีดเล่มไหนหายไปบ้าง

\

 

ห้องเยี่ยม (Visitation room)

 

Administrative office

 

หัวหน้าผู้คุม (warden)

ตลอด 29 ปีที่คุกเปิดทำการ มีหัวหน้าผู้คุมทั้งหมด 4 คน

 

 

การหลบหนี

 

ถึงเกาะคุกนี้จะได้ชื่อว่าเป็นคุกที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุด แต่ที่ไหนมีนักโทษก็ต้องมีการพยายามแหกคุกทุกที่ ที่นี่ก็เช่นกันครับ

 

แผนผังการหนีทั้งหมด 14 ครั้ง

 

จากความพยายามหลบหนีหลายต่อหลายครั้ง ครั้งที่รุนแรงและโด่งดังที่สุด (แต่ก็หนีไม่สำเร็จ) มีชื่อว่า “The Battle of ’46” หรือ “The Battle of Alcatraz” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 1946 โดยมีแกนนำคือ Bernard Coy นักโทษคดีปล้นธนาคาร และ Joseph Cretzer

 

 

Coy ปีนขึ้นไปบน Gun Gallery และใช้อุปกรณ์ที่เขาเก็บ ๆ ไว้จากการทำ workshop ในคุกเพื่อเป็นอุปกรณ์ในการถ่างลูกกรง (bar-spreader) ของ Gun Gallery แล้วแทรกตัวเข้าไปเพื่อขโมยอาวุธในการหลบหนี

 

 

Gun Gallery และลูกกุญแจ ที่ใช้ไขออกไปสู่ลานกีฬา (Recreation Yard) ซึ่งเป็นสถานที่เป้าหมายของเส้นทางหลบหนีของการหลบหนีครั้งนี้

 

แต่โชคไม่ดีของนักโทษกลุ่มนี้ เพราะผู้คุมขังคนหนึ่งคือ William Miller สามารถนำกุญแจนั้นไปซ่อนได้ทัน แต่ก็ทำให้เขาถูกจับขังในห้องขังในรูปข้างล่างนี้และถูกฆ่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

 

ร่องรอยกระสุนและระเบิดจากการต่อสู้

 

ภาพรวบรวมเหตุการณ์ “The Battle of Alcatraz”

 

นอกจากการหลบหนีครั้งใหญ่ครั้งน้ัน ยังมีอีกหลายครั้ง ครั้งที่โด่งดังอีกครั้งเกิดขึ้นในปี 1962 ซึ่ง Frank Morris และสองพี่น้อง John และ Clarence Anglin ขุดอุโมงค์ด้วยช้อนและปีนผ่านช่องระหว่างห้องขัง (ตามรูปข้างล่าง) และหนีลงทะเลไปได้และทั้งสามคนนี้ก็หายสาบสูญไป โดยไม่รู้ว่าเสียชีวิตหรือรอดจนถึงชายฝั่ง

 

 

ช่องทางการหลบหนี

 

หุ่นปลอมไว้หลอกผู้คุม

 

 

วิวทิวทัศน์สภาพภายนอกอาคาร และสิ่งมีชีวิต

บริเวณภายนอกอาคาร มีที่ให้เดินชมไม่น้อยเหมือนกัน แต่ในแต่ละส่วน บางฤดูก็ไม่ได้เปิดให้เดินผ่าน เข้าใจว่าขึ้นกับความเป็นอยู่ของสัตว์ต่างๆ ที่อยู่บนเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพวกนกชนิดต่างๆ เพราะจากที่ไปสองครั้งก็ได้เดินไม่ซ้ำที่กัน



อิสรภาพอยู่แค่เอื้อม

 

Guard Tower

 

Warden’s House

 

Industrial and Laundry Building

 

และอาคารอื่นๆ โดยรอบ


 

นกทะเลชนิดต่างๆ ที่พบบนเกาะนี้ (แทบไม่ค่อยพบสัตว์ประเภทอื่นเลย นอกจากพวก deer mouse และ salamander)

 

 

ร่องรอยของชาวอินเดียนแดง


หลังจากที่คุกปิดตัวลง ชาวอินเดียนแดงก็เข้ามายึดครองเกาะแห่งนี้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แค่ประมาณ 19 เดือน ก่อนที่จะถูกทางการสหรัฐยึดพื้นที่กลับไป ดังนั้นบนเกาะก็จะมีร่องรอยการเรียกร้องอิสรภาพและเสรีภาพของชาวอินเดียนแดงอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ได้รับการทำนุบำรุง ทาสีใหม่ ทำให้ดูเป็นร่องรอยใหม่ๆ ไม่เก่าแก่แบบที่เคยเป็น



“FREE”

 

หลังจากเดินกันทั่วและจุใจแล้ว (เพราะที่นี่เดินนานเท่าไรก็ได้ มีเรือกลับทุก 15-30 นาที) ก็ต่อแถวขึ้นเรือกลับเข้าฝั่งครับ

 

 

 

จะเห็นว่าเกาะเล็กๆ โดดเดี่ยวกลางทะเลที่สองร้อยปีก่อนไม่คิดว่าจะมีประโยชน์จากสภาพภูมิประเทศและอากาศรอบๆ แต่ต่อมาก็มีเรื่องราวเกิดขึ้น มีประวัติศาสตร์มากมายบนเกาะแห่งนี้ และปัจจุบันก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของซานฟรานซิสโกซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี และที่สำคัญ…การมาที่นี่ได้อะไรกลับไปพอสมควร ไม่มีความหดหู่แบบที่หลายๆ คนคิดนะครับ ดังนั้นถ้ามีโอกาสน่าจะมาซักครั้งนึง

 

 

 

About Breathe My World 29 Articles
A man who love travelling the world.